ตรุษจีนกับหลากหลายเรื่องราวจากอั่งเปาถึงเรื่องต้องห้ามตามความเชื่อ

ขึ้นชื่อว่าเป็นวันปีใหม่ ก็ย่อมเป็นวันเริ่มต้นสิ่งดีๆ ไม่ว่าจะวันปีใหม่ตามปฏิทินสากล หรือ ปีใหม่จีน ตรุษจีน ตามปฏิทินแบบจันทรคติ ที่หลายๆ คนก็ยังงงๆ ว่านับวันยังไง เอาเป็นว่า ถ้านับไม่ถูกก็ให้ดูจากปฏิทินที่บางแบบก็นับมาให้แล้ว ว่าวันตรุษจีนของปี 2562 นี้จะตรงกับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562    

Advertisement

สำหรับตรุษจีนแล้วก็จะมีเป็นช่วงเทศกาลที่เรียกกันว่า “วันจ่าย-วันไหว้-วันถือ หรือวันเที่ยว” ความหมายของแต่ละวันในช่วงเทศกาลตรุษจีนก็แทบจะแปลตรงตัวกันมาเลย “วันจ่าย” นี่คือ จ่ายกันจริงๆ นะ กับใช้จ่ายในการซื้อของเซ่นไหว้ เตรียมเงินเตรียมกระเป๋าให้พร้อม ซึ่ง “วันจ่าย” ก็จะตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งหลายๆ คนก็คงจ่ายกันไปเรียบร้อยแล้ว เสร็จสรรพก็มาถึงวันไหว้ซึ่งก็ตรงกับวันนี้ (4 กุมภาพันธ์) ที่จะเป็นวันเซ่นไหว้เทพเจ้า และบรรพบุรุษ ตามประเพณีที่สืบทอดกันมา  และถัดไปจากวันไหว้ก็คือวันถือหรือวันเที่ยว หรือ วันชิวอิก (วันแรกของปี) ซึ่งจะวันเที่ยว วันเฉลิมฉลอง หรือการเดินทางไปพบปะสังสรรค์ญาติมิตร ซึ่งตรงกับวันที่ 5 กุมภาพันธ์

ส่วนที่มาของ “ตรุษจีน” ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ ก็ไม่ใช่เฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น แต่หลายประเทศที่นับปฏิทินจันทรคติ เช่นในเวียดนาม ก็ใช้วันเดียวกันเรียกว่า “ตรุษเทด” ซึ่งก็น่าจะมีที่มาเดียวกันคือถือเอาวันปีใหม่เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง

การเฉลิมฉลงตรุษเทดในเวียดนามซึ่งก็ตรงกับวุนตรูษจีน (เครดิต http://blog.aseankorea.org)

ตรุษจีนเป็นช่วงเวลาแห่งการสิ้นสุดฤดูหนาว (ซึ่งบางพื้นที่ในประเทศจีนหนาวจนเพาะปลูกลำบากหรือเพาะปลูกไม่ได้เลย) ชาวจีนโบราณจึงเริ่มทำการเพาะปลูกอีกครั้งหลังสิ้นสุดฤดูหนาว คือเข้าสู่ช่วงเริ่มต้นฤดูเพาะปลูก หรือฤดูใบไม้ผลิ จึงนับเป็นช่วงเวลาดีๆ แห่งการเริ่มต้นของปี ที่มาของตรุษจีนเกิดจากภาคเกษตรและเกี่ยวพันกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล

เครดิตภาพ www.vietnam-travel.org

แน่นอนว่า เมื่อมีตรุษจีนก็จะต้องมาพร้อมๆ กับอั่งเปาที่แปลตรงๆ ตัวตามภาษาจีนสำเนียงหมินหนาน (แต้จิ๋ว ไหหลำ ฮกเกี้ยน) คำว่า “อั่งเปา” นั่น “อั้ง แปลว่า แดง และ เปา แปลว่าซอง เช่นเดียวกับในภาษาจีนสำเนียงแมนดาริน (จีนกลาง) ที่จะเรียกว่า “หงเปา” รวมความหมายก็เหมือนๆ กัน คือแปลว่า ซองแดง หลายๆ คนถวิลหา แต่เดี๋ยวก่อน ตามประเพณีการให้อั่งเปานั้น จะต้องมีการเรียงลำดับ ไม่ใช่ว่า เดินไปหาญาติที่ไหนเขาก็จะแจก นั่นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

อั่งเปาจะแจกผู้มีอาวุโสสู่ผู้ที่ด้อยวัยวุฒิกว่าเป็นหลัก แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บางประการ เช่น ถ้าผู้อาวุโสแบบอาวุโสมากๆ ทำงานไม่ได้ ก็เป็นคิวของผู้น้อยที่ทำงานได้ต้องเป็นฝ่ายแจกอั่งเปาให้ ในขณะที่ผู้ใหญ่ต้องแจกอั่งเปาให้เด็กๆ ไม่ได้หมายความถึงผู้อาวุโสกว่าจะต้องให้อั่งเปาแก่ผู้มีอาวุโสน้อยกว่าเสมอไป

หรือบางบ้านอาจจะดูที่ฐานะในผู้ที่มีฐานะดีกว่าก็จะแจกอั่งเปาให้กับผู้มีฐานด้อยกว่า ถือเป็นการเกื้อกูลกันตามประเพณีนิยมอีกแบบหนึ่ง

ข้ามจากเรื่องของอั่งเปา มาถึงเรื่องต้องห้ามในวันเที่ยว วันถือ หรือวันชิวอิก ซึ่งเป็นวันแรกของปี กับ 15 เรื่องราวที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรบ้างลองไปดู…

สำหรับวันเริ่มต้นปี คือวันชิวอิก (ตามปฏิทินจีน) ซึ่งเป็นวันเที่ยว และวันถือไปพร้อมๆ กัน สิ่งต้องห้ามที่ไม่พึงกระทำ อันดับแรกเลยคือ “ห้ามด่า” เพราะวันแรกของปีเป็นวันดีๆ การด่า หรือแม้แต่การพูดคำหยาบ รวมถึงการไปมีเรื่องมีราวกับใครก็ตาม ถือเป็นเรื่องอัปมงคลไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง

ถัดมาเป็นเรื่องการทำของตกแตกซึ่งวันชิวอิกนี้ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะถ้ามีอะไรแตกหักแล้วคนจีนจะถือว่าไม่เป็นมงคล อาจหมายรวมถึงอุบัติเหตุอื่นๆ เช่น ลื่นล้ม หรือ อะไรก็ตาม ซึ่งวันนี้ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเป็นวันแรกของปี

ถัดมาก็เป็นเรื่องสำคัญ เสื้อผ้าหน้าผมต้องชัดเจน แดงได้ให้แดงไว้ก่อน เพราะสีแดงคือสีแห่งมงคล ควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าสีจืดๆ เสื้อผ้าขาดๆ เก่าๆ หรือแม้แต่สีโทนขาว-ดำ ซึ่งคนจีนจะถือว่าไม่เป็นมงคลอย่างยิ่ง

อีกเรื่องที่มักมองข้าม คือเรื่องของการร้องไห้ (อาจผิดหวังจากอั่งเปา) ก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะให้เกิดขึ้นในวันถือวันชิวอิกนี้ เพราะหากเศร้าแต่ต้นปี มันก็ย่อมไม่เป็นมงคลอย่างแน่นอน

เรื่องของการแฮร์คัดตัดโน่นตัดนี่เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เพราะคนจีนจะถือถือว่าตัดโชคตัดลาภ แม้แต่การจัดผม หรือใช้กรรไกรของมีคมก็เป็นเรื่องไม่ควรทำ

สุดท้ายเรื่องของการทำความสะอาดกวางบ้านถูบ้าน ซึ่งปกติแล้วในเทศกาลตรุษจีนคนไทยเชื้อสายจีนหรือผู้ที่ถือ ก็มักจะล้างบ้านทำความสะอาดห้างร้านก่อนวันตรุษจีน เมื่อเข้าสู่ช่วงตรุษจีนแล้วให้วางมือได้เลย เพราะจะถือเป็นการ “ชะล้างโชคลาภ” ไปในตัว

หลักๆ เรื่องราวต้องห้ามในช่วงตรุษจีน ก็คงมีเท่านี้ ส่วนจะมียิบย่อยลงไปนั่นก็ขึ้นอยู่กับว่า ครอบครัวไหนหรือใครจะถือมากหรือถือน้อย

และนี่คือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในวันตรุษจีนที่หลายคนอาจ “รู้”อยู่แล้ว แต่เชื่อว่าก็ยังมีอีกหลายคนที่ยัง “ไม่รู้” แบ่งๆ ความรู้กันไปตามเท่าที่จะพอหาได้ สุดท้ายก็ต้องปิดด้วยคำอวยพรในวันตรุษจีนแบบยอดนิยม “ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ” ซึ่งใช้ในประเทศจีน ส่วนจีนในประเทศไทยสำเนียงหมินหนาน ก็จะออกเสียงคล้ายๆ กัน นั่นก็คือ “ซิงเจียยู่อี่ ซิงนี่ฮวกไช้” หรือ “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” ตามสำเนียงแบบไทยๆ ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำไทยว่า “ปีใหม่นี้สมหวังดังปรารถนา รุ่งเรืองมั่งคั่งร่ำรวยตลอดปี”