สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ในโอกาสนี้เราก็ได้มาพบกันอีกครั้งหนึ่ง พร้อมด้วยกับประเด็นดราม่ากับชาติเพื่อนบ้านคนดี (?) เจ้าเก่าเจ้าเดิมอย่างประเทศกัมพูชา หรือที่คนไทยมักเรียกติดปากว่า “เขมร”
ที่ล่าสุดเพิ่งจะประกาศเปลี่ยนชื่อกีฬามวยไทยเป็น “กุน ขแมร์” ในกีฬาซีเกมส์ที่ตนกำลังจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้ โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นสิทธิ์ของชาติเจ้าภาพที่สามารถเปลี่ยนชื่อกีฬาในการแข่งขันได้ตามความเหมาะสม (?)
ซึ่งแน่นอนว่างานนี้ก็ทำเอา “สมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย” ประกาศไม่ส่งนักกีฬาทีมชาติไทยลงแข่งขัน และแถมทาง “สหพันธ์มวยไทยนานาชาติ” หรือ “อีฟม่า” (IFMA – International Federation of Muaythai Associations) ซึ่งถือเป็นสมาพันธ์การกีฬาในระดับสากลที่ได้รับการรองรับจาก “สมาคมสหพันธ์กีฬานานาชาติที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลให้การรับรอง” (Association of IOC Recognised International Sports Federations) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้การดูแลของ “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล” (IOC – International Olympic Committee) อย่างเป็นทางการแล้วได้ออกมาประกาศลงโทษทุกชาติที่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันกีฬากุน ขแมร์ ด้วยการไม่ให้ลงแข่งขันกีฬาที่ทางอีฟม่าเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่ทั้งหมด แต่ถึงทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันซีเกม์ทางกัมพูชาจะโนสนโนแคร์แล้ว
ความวุ่นวายยังไม่จบลงแต่เพียงเท่านั้น เพราะด้วยความที่การแข่งขันซีเกมส์ของกัมพูชาก็ยังหาเรื่องด้วยการประกาศจะให้การแข่งขันกีฬาเทควันโด้ในซีเกมส์ถือตามกติกาของ “สหพันธ์เทควันโดนานาชาติ” หรือ “ไอทีเอฟ” (ITF – International Taekwon-Do Federation) หรือที่เรียกกันอย่างง่ายๆตามสื่อต่างๆว่า ‘เทควันโด้เกาหลีเหนือ’ ที่เป็นเทควันโด้สายการป้องกันตัวและสามารถใช้หมัดต่อสู้ได้ ซึ่งต่างไปจากเทควันโด้สายกีฬาที่เน้นการเตะเพียงอย่างเดียว จนทำเอา “สมาพันธ์เทควันโด้โลก” หรือ “ดับเบิ้ลยูที” (WT – World Taekwondo) ที่ถือว่าเป็นสมาพันธ์กีฬาในระดับสากลที่มีอิทธิพลมากที่สุดออกมาประกาศคว่ำบาตรการแข่งขันเทควันโด้ในครั้งนี้อีกเจ้าหนึ่งอีกต่างหาก
งานนี้ผมก็ไม่รู้ว่าทางคณะกรรมการการจัดการแข่งขันซีเกมส์ของกัมพูชาจะแก้เกมความวุ่นวายในครั้งนี้ได้อย่างไร แต่ผมดูทรงแล้วก็น่าจะทู่ซี้ทำมึนไม่รู้ไม่ชี้ต่อไปนั่นล่ะครับ และผมยังมองว่าประเด็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายกัมพูชาที่ต้องการนำชื่อกุน ขแมร์เข้ามาแทนที่มวยไทยใช้ในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ น่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีที่ “กุน ลโบกาตอร์” (Kun Lbokator – ល្បុក្កតោ ) อันเป็นมวยพื้นบ้านของกัมพูชาที่เพิ่งจะได้รับการรองรับจากยูเนสโก้ (UNESCO – United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) ให้เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage) นั่นล่ะครับ และเนื่องจากในรายละเอียดหรือประวัติของมวยโบกาตอร์ที่ได้แนบเสนอส่งไปทางยูเนสโก้นั้นยังมีการอ้างอิงว่ามวยโบตากอร์นั้นถือเป็นต้นกำเนิดของมวยไทยและมวยลาว ด้วยการกล่าวอ้างถึงความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิเขมรพระนครที่เคยปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของภูมิภาคอุษาคเนย์ในช่วงศตวรรษที่ 9 – 15 จึงทำให้ผมมั่นใจได้ว่าทางกัมพูชาต้องการประกาศศักดาของตนด้วยการยกย่องกุน ขแมร์ขึ้นมาเพื่อหวังจะลบชื่อมวยไทยที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นศิลปะการต่อสู้ชั้นแนวหน้าของโลกใน ณ เวลานี้ให้ได้นั่นล่ะครับ
อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะยอมรับว่าจักรวรรดิเขมรเคยเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกโบราณ และวัฒนธรรมเขมรโบราณยังถือว่าเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทยก็ตาม แต่การที่จะกล่าวอ้างว่ามวยเขมรจะเป็นต้นกำเนิดของมวยไทยนั้น ดูจะเป็นการด่วนสรุปเกินไปอย่างมากทีเดียว เพราะจากหลักฐานด้านมานุษวิทยาแสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของชาวไทยหรือ “กลุ่มชาติพันธุ์ไท” (Tai Ethic) นั้น ล้วนแต่กระจายตัวอยู่ในเขตดินแดนทางตอนใต้ของจีนเรื่อยไปจนถึงพรมแดนทางตะวันออกของอนุทวีปอินเดียมาตั้งแต่ยุคบรรพกาลแล้ว โดยกลุ่มชนเผ่าไทที่ถือเป็นญาติของเราที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือ
1. “ชาวไทจ้วง” ที่ยังคงอาศัยอยู่ในแผ่นดินจีนนับล้านคน และยังคงพูดภาษาตระกูลไทอยู่จนถึงทุกวันนี้ และเชื่อได้ว่าพวกเขาก็คือ “ชาวไป๋เยว่” (百越) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยตั้งอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ในดินแดนทางตอนใต้ของจีนในช่วงยุครณรัฐของจีนที่เรียกว่า “ยุควสันตสารท” หรือ “ยุคชุนชิว” (春秋)
2. “ชาวไทดำ” หรือ “ไททรงดำ” ที่ยังคงอาศัยอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทหรือสิบสองเจ้าไท ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเดียนเบียนฟูของเวียดนามและทางฝั่งลาวด้วยจนถึงทุกวันนี้ และยังคงมีกลุ่มชาวไทแดงและไทขาวอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันด้วย
3. กลุ่มชาวไทใหญ่หรือ “ไตโหลง” ที่ครอบครองดินแดนที่ราบสูงทางตอนเหนือของพม่าที่ติดกับพรมแดนจีนร่วมกับกลุ่มชาวไทกลุ่มอื่นๆอีกอย่างไทลื้อ , ไทเขิน/ขึน , ไทยอง และครั้งหนึ่งกลุ่มชาวไทใหญ่ก็เคยสร้างเครือข่ายพันธมิตรนครรัฐหรือเหล่าแคว้นเจ้าฟ้าที่กลายมาเป็นหนึ่งในภัยคุกคามของเหล่าอาณาจักรพม่านับแต่การล่มสลายของ “จักรวรรดิพุกาม” จากการรุกรานของชาวมองโกลในศตวรรษที่ 13 เลยทีเดียว ดังมีปรากฏว่ากองทัพไทใหญ่เคยยกทัพเข้าปล้นสะดมและเผาทำลายหัวเมืองทางเหนือของพม่า โดยเฉพาะกรุงอังวะซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองหลวงของชาวพม่าในช่วงก่อนการรวมแผ่นดินของราชวงศ์ตองอูของพระเจ้าบุเรงนองด้วยซ้ำ
4.กลุ่มชาติพันธุ์ไทในแคว้นอัสสัมของอินเดียอย่าง “ไทคำตี่” และโดยเฉพาะพวก “ไทอาหม” ซึ่งได้รับการกล่าวขานด้วยความยำเกรงโดยชาวมุสลิมที่เคยเข้ามาปกครองดินแดนทางตอนเหนือของอินเดียว่าเป็นชนชาติที่ดุร้ายและกระหายเลือดเป็นอย่างยิ่ง
5. กลุ่มชนเผ่าไทที่ได้สร้างบรรดาอาณาจักรต่างๆในดินแดนทางตอนเหนือของประเทศไทย อย่างกลุ่ม “ชาวไท – ยวน” ที่ได้สร้างนครโยนกเชียงแสน , ภูกามยาว (พะเยา) และสืบมาจนถึงยุคราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนา และยังมีพวก “ชาวไทเลือง” ที่ได้อพยพลงมาสร้างกรุงสุโขทัย และขับไล่พวกขอมหรือเขมรออกไปได้สำเร็จ ดังอ้างอิงจาก ศิลาจารึกหลักที่ ๘ หรือจารึกวัดพระมหาธาตุได้พรรณาถึงต้นตระกูลราชวงศ์แห่งอาณาจักรสุโขทัยว่า…
“…(ฝู)งผู้หวาน ปู่ขุนจิตขุนจอด ปู่พระยาศ…(รีอินทราทิ)ตย์ ปู่พระยาบานเมือง ปู่พระยารามราช ปู่ไสส…(ส)งคราม ปู่พระยาเลอไทย ปู่พระยางัวนำถม ปู่…(พระ)ยามหาธรรมราชา พ่องำเมือง พ่อเลอไทย แ…(ลไท)ยผู้ดีผีชาวเลืองเท่านี้แล…”
นอกจากนี้แล้ว แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่าบรรดาราชวงศ์ที่ปกครองกรุงอโยธยาหรืออยุธยายุคต้นจะมีความเกี่ยวดองกับราชวงศ์เขมรโบราณก็ตาม แต่หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของชนเผ่าไทยในดินแดนแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็คือ “ลิลิตโองการแช่งน้ำ” ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ถูกแต่งด้วยภาษาไทยโบราณ และยังแต่งขึ้นในยุคก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาของพระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 อีกด้วย ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงอิทธิพลของชนเผ่าไทในดินแดนภาคกลางของไทยมานานกว่าที่เราเคยเข้าใจกันอีกด้วย
ดังนั้น ในเมื่อชนเผ่าไทสามารถสร้างอาณาจักรขึ้นมาปกครองดินแดนต่างๆ ตลอดแนวชายแดนทางตอนใต้ของจีนไปจนทั่วทั้งดินแดนทางตอนเหนือของภูมิภาคอุษาคเนย์ เรื่อยไปจนถึงพรมแดนอินเดียได้ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่นอกปริมณฑลแห่งอำนาจของชาวเขมรเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมหมายความว่าชนเผ่าไทเองก็ต้องมีความสามารถในการต่อสู้หรือมีศิลปะการต่อสู้เป็นของตนเองมาก่อน ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะสามารถทำสงครามเข้ายึดครองดินแดนต่างๆหรือขับไล่ผู้รุกรานไปได้อย่างไรล่ะครับ?
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่ามวยไทยในยุคแรกคงไม่ได้มีลักษณะการช่วงใช้แบบมวยในทุกวันนี้เสียทีเดียว แต่คงจะผ่านการปรับปรุงแก้ไขจากการ “ปะทะสังสรรค์” คือทั้งการติดต่อระหว่างรัฐหรือการทำสงครามกับชนเผ่าหรือรัฐข้างเคียงมาเป็นเวลายาวนานนับร้อยปี และมวยเขมรเองก็ย่อมต้องเกิดจากการพัฒนาจากการปะทะสังสรรค์กับรัฐและชนเผ่ารอบข้างเหมือนกัน หรือกล่าวคือมวยไทยและมวยเขมรนั้นก็มีพัฒนาการเป็นของตนเอง มิใช่ว่าจะได้รับอิทธิพลจากชนชาติใดชนชาติหนึ่งเพียงหนึ่งเดียวอย่างที่ชาวเขมรในทุกวันนี้พยายามจะกล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือข้อมูลหรือประวัติของมวยโบกาตอร์อันเป็นมวยพื้นบ้านของเขมรที่เพิ่งได้รับการรองรับจากยูเนสโก้นั้น ปรากฏมีการกล่าวอ้างว่ามวยโบกาตอร์นี้ยังเป็นมวยที่เอาไว้สู้กับสัตว์ร้ายอย่างเสือและสิงโต โดยผมขอยกหลักฐานที่ได้มีการกล่าวอ้างเอาไว้ดังนี้
‘Bokator or Lbokkator The term bokator translates as “pounding a lion” ‘
อ้างอิงจาก https://muaythaisangha.com/fighting-arts/bokator/
ส่วนอีกที่บอกว่า
“The complete sentence means smashing the lion or the tiger”
อ้างอิงจาก https://www.airavata-cambodia.com/bokator/
คำถามที่เกิดในใจผมเป็นอย่างแรกเลยก็คือ “นี่ตกลงเขาคิดค้นมวยมาเพื่อต่อยกับเสือโคร่งและสิงโตเนี่ยนะ?”
โถ พูดโม้ปานว่าตัวเองเป็นนักสู้กลาดิเอเตอร์ (Gladiator) ของพวกโรมันไปซะได้…
อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเปรียบเทียบวิชาว่าของใครดีกว่าใคร เพราะสุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้ฝึกวิชานั้นๆว่าจะมีการฝึกซ้อมและประสบการณ์ในการต่อสู้มามากเพียงใด แต่จากหลักฐานที่แสดงวิชาโบกะตอร์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีปรากฏใน ณ เวลานี้เป็นภาพยนตร์ฟิล์มขาวดำที่ถ่ายการชกมวยของชาวเขมรเอาไว้โดยชาวฝรั่งเศสในช่วงปี ค.ศ. 1930s ซึ่งทุกท่านสามารถลองเข้าไปดูกันได้ในลิงก์ที่ผมแนบมานี้ โดยช่วงที่นักมวยทั้งสองเริ่มประมวยกันนั้นจะอยู่ในช่วงเวลาที่ 0.50s เป็นต้นไปครับ
ทุกท่านลองชมเอาละกันนะครับว่า นอกจากการนุ่งโจงกระเบนถกสูงของนักมวยทั้งสองแล้ว วิชามวยเขมรในภาพยนตร์ชุดนี้มีส่วนไหนที่เหมือนกับมวยไทยบ้างล่ะครับ เพราะทั้งที่มวยไทยที่เราเห็นได้ตั้งแต่สื่อบันเทิงต่างๆไปจนถึงการแข่งขันในเวทีต่างๆนั้นล้วนแต่มีการออกอาวุธที่หนักหน่วงและรุนแรงกว่านี้มาก โดยเฉพาะท่าการใช้ศอกและการเตะอันเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีมวยใดเหมือน เพราะในขณะที่มวยอื่นมักจะเตะลูกสั้นหรือเพียงแค่ยกขาเตะ แต่มวยไทยนั้นจะมีการใช้แรงเหวี่ยงขาเพื่อสร้างแรงเตะอย่างรุนแรง และในส่วนของการใช้ศอกนั้น วิชามวยไทยสามารถใช้ศอกได้ในทุกระยะ นอกจากการสับศอกลงตรงๆ และการฟันศอกแล้ว แต่ท่าศอกที่อันตรายที่สุดก็คือการ “งัดศอก” คือการงัดศอกขึ้นตรงๆเหมือนท่าหมัดเสยคาง ซึ่งถือว่าเป็นท่าการออกอาวุธที่อันตรายมากเลยทีเดียว โดยความรุนแรงของมวยไทยนั้นมีปรากฏเป็นหลักฐานคือคดีการประลองมวยที่เกรียวกราดที่สุดครั้งหนึ่งในพระนคร เมื่อ “นายแพ เลี้ยงประเสริฐ” นักมวยชาวไทยได้ประลองมวยคาดเชือกกับ “เจียร์ พระตะบอง” ผู้เป็นนักมวยชาวเขมรจากเมืองพระตะบองในวันที่ 24 พ.ย. 2471 โดยนายแพผู้นี้มีประวัติยืนยันได้ว่าเป็นผู้ฝึกมวยท่าเสา ซึ่งเป็นวิชามวยพระยาพิชัยดาบหักเป็นผู้คิดค้นขึ้น และนายแพไม่เพียงแต่จะสามารถเอาชนะนายเจียร์ที่ตัวใหญ่กว่าแบบชนะน็อคเท่านั้น แต่ยังทำให้นายเจียร์สิ้นใจตายในเวลาต่อมาอีกด้วย จนเป็นเหตุให้นายแพถูกจับกุมในทันทีในข้อหาฆาตกรรม แต่สุดท้ายแล้ว “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต” เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจรายงานนั้นและรับสั่งระงับคดีไว้ เพราะการกระทำของนายแพไม่ส่อถึงการเจตนา และได้กระทำไปตามวิถีทางของการต่อสู้ จึงทำให้นายแพได้รับการปล่อยตัว และด้วยผลจากการประลองของนายแพกับนายเจียร์ในวันนั้นได้ทำให้ทางรัฐบาลสยามประกาศยกเลิกการประลองมวยคาดเชือก และให้สวมนวมแบบมวยสากลมานับตั้งแต่นั้น
เพราะฉะนั้น ในเมื่อมวยไทยก็มีวิถีของมวยไทย มวยเขมรก็มีวิถีของมวยเขมร การจะพยายามมาแอบอ้างสิทธิ์เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่ในเมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่คณะรัฐบาลกัมพูชาออกโรงมาเล่นเกมการเมืองระหว่างประเทศถึงขนาดนี้ ก็ย่อมที่จะสะท้อนถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศกัมพูชาด้วยได้เช่นกัน โดยประเด็นทั้งหมดนี้อาจจะเกิดจากความพยายามของพรรครัฐบาลที่ต้องการจะสร้างคะแนนเสียงทางการเมืองให้กับตนเองในการเลือกตั้งที่ใกล้จะเกิดขึ้นภายในปีนี้ เพราะนอกจากความสำเร็จในเรื่องการได้รับการรองรับจากยูเนสโก้แล้ว ก็อาจจะมีประเด็นของความพยายามในการปกปิดความล้มเหลวในด้านการบริหารเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งคือกรณีเมืองสีหนุวิลล์ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่รัฐบาลกัมพูชาได้อนุญาตให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาลงทุนด้วยการถือหุ้นแบบ 100% แต่สุดท้ายด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในประเทศจีนจากปัญหาการระบาดของโควิด 19 กลับทำให้ฝ่ายทุนจีนกลับถอนทุนและทิ้งให้เมืองสีหนุวิลล์กลายเป็นเมืองร้างไปโดยปริยาย
สรุปแล้ว เกมการเมืองของรัฐบาลกัมพูชาในเรื่องของกุน ขแมร์ครั้งนี้ก็คงจะไม่พ้นความพยายามกลบเกลื่อนในความผิดพลาดในการบริหารด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีประชาชนชาวกัมพูชาที่หลงกลในเกมนี้ถูกปลุกระดมโดยที่ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วฝ่ายที่เสียหายมากที่สุดก็ไม่พ้นทั้งตัวของวิชากุน ขแมร์ที่ไม่ได้รับการพัฒนาหรือต่อยอดให้มีความยั้งยืนอย่างแท้จริง และโดยเฉพาะประชาชนชาวกัมพูชาที่ยังคงถูกลดค่าให้เป็นเพียงหมากการเมืองให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประคองอำนาจของตนเองต่อไปเท่านั้นเองล่ะครับ…
เรียบเรียงโดย..ภาสพันธ์ ปานสีดา