ผลสำรวจอปท.นิวส์โพลระบุ “ชัชชาติ” ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มตัวอย่าง ส่วน “อัศวิน” มาอันดับสอง ขณะที่ผลสำรวจชัดการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีผลถึงความตื่นตัว พร้อมๆ กับปัญหา “มลพิษ-โควิด” ที่ชาวกรุงยังกังวล
นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ ผู้อำนวยการ อปท. นิวส์โพล เปิดเผยถึง เหตุผลในการทำโพในหัวข้อ “ผู้ว่าในใจคนกทม.” ว่า “การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้ว่า กทม. ในครั้ง เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะมีผลในการชี้วัดสถานการณ์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของความตื่นตัวทางการเมือง และความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เมืองหลวง ดังนั้นผลของการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ที่จะเกิดขึ้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และมีหลากหลายมิติที่ควรจะต้องถูกนำไปเผยแพร่เพื่อสะท้อนภาพรวมความต้องการของประชาชน รวมถึงแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะมาถึงในครั้งนี้ ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่ทราบเกี่ยวกับรายละเอียด โดยมาจากหลากหลายปัจจัย ผลการสำรวจที่เกิดขึ้นจึงเป็นประโยชน์ในมิติของการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ รวมถึงเรื่องของการสะท้อนภาพปัญหาในด้านต่างๆ ของประชาชนไปยังผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม.ในอนาคตอีกด้วย” ผอ.อปท.นิวส์โพลกล่าว
ด้านดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ ที่ปรึกษาอปท.นิวส์โพลระบุถึงผลสำรวจที่เกิดขึ้นว่า “ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในหัวข้อ “การใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร” ได้ดำเนินการระหว่างวันที่ 20-27 เมษายน 2565 ทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์พร้อมลงสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ตอบแบบสอบถามในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 1,625 รายจากพื้นที่ 6 กลุ่มเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย กลุ่มเขตกรุงธนบุรีเหนือ กลุ่มเขตกรุงเทพฯกลาง กลุ่มเขตกรุงธนบุรีใต้ กลุ่มเขตกรุงเทพฯตะวันออก กลุ่มเขตกรุงเทพฯ ใต้ และ กลุ่มเขตกรุงเทพฯเหนือ
โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายร้อยละ 55 เพศหญิงร้อยละ 45 โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35 มีอายุอยู่ระหว่าง 36 – 45 ปี รองลงมาร้อยละ 20 มีอายุ 46 – 55 ปี ร้อยละ 18 มีอายุ 56 – 65 ปี ร้อยละ 11 มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปี ร้อยละ 9 มีอายุระหว่าง 26 – 35 ปี และร้อยละ 7 มีอายุ 66 ปีขึ้นไป ตามลำดับ ร้อยละ 36 ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี รองลงมาร้อยละ 21 เป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและ ปวช. ร้อยละ 17 สูงว่าปริญญาตรี ร้อยละ 14 มีการศึกษาในขั้นประถมศึกษา และร้อยละ 12 มีการศึกษาระดับอนุปริญญา หรือ ปวส. ตามลำดับ
ส่วนทางด้านอาชีพของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม พบว่า เป็นกลุ่มที่อยู่ในหมวด อื่นๆ เช่น อาชีพอิสระตอบแบบสอบถามมากที่สุดมีจำนวนถึงร้อยละ 34 รองลงมาคือกลุ่มอาชีพค้าขาย จำนวนร้อยละ 29 เป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 20 รับราชการ ร้อยละ 11 เกษียณอายุแล้ว ร้อยละ 3 เกษตรกร ร้อยละ 1 ตามลำดับส่วนใหญ่ร้อยละ 50 มีรายได้ในระดับ 15,001 – 20,000 บาทต่อเดือน รองลงมาร้อยละ 27 มีรายได้มากกว่า 20,001 บาทต่อเดือนขึ้นไป ร้อยละ 8 มีทั้งกลุ่มที่รายได้อยู่ระหว่าง 10,001 – 15,000 บาท และกลุ่มรายได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท ที่เหลือร้อยละ 7 คือกลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 5,001 – 10,000 บาท
โดยผลสำรวจที่เกิดขึ้นสามารถสรุปสาระสำคัญๆ ดังนี้ เกี่ยวกับการรับรู้ของประชาชนต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และสก.ในครั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 78 ตอบว่าทราบ ที่เหลือร้อยละ 22 ตอบว่าไม่ทราบ และคำถามเกี่ยวการรับรู้ข้อมูลข่าวสารว่าจะมีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และ สก. จากสื่อช่องทางใด ร้อยละ 48 ตอบว่ารับรู้จากสื่อ online รองลงมาจำนวนร้อยละ 22 รับรู้จาก สื่อโทรทัศน์และเคเบิ้ลทีวี ร้อยละ 16 ทราบจาก ผู้สมัครและทีมงาน จำนวนร้อยละ 12 ทราบจาก ป้ายหาเสียงและ เอกสารการประชาสัมพันธ์ มีเพียงแค่ร้อยละ 2 ทราบจาก สื่อหนังสือพิมพ์และอื่นๆ
ต่อคำถามที่ว่าจะไปใช้สิทธิการเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้หรือไม่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44 ตอบว่าไปแน่นอน รองลงมาจำนวนร้อยละ 35 คิดว่าจะไป ร้อยละ 14 ตอบว่า ยังไม่แน่ใจ มีเพียงจำนวนร้อยละ 7 ตอบว่า ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้
ส่วนปัจจัยที่จะมีผลต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า จำนวนมากที่สุดร้อยละ 46 ยังเป็นห่วงเรื่องโรคโควิด 19 รองลงมา จำนวนร้อยละ 21 คิดถึงความสะดวกในการเดินทาง ร้อยละ 16 คิดถึงผู้สมัครรับเลือกตั้ง ร้อยละ 8 คิดว่าสภาพฝนฟ้าอากาศจะมีผล จำนวนร้อยละ 6 คิดว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางอาจมีผล และร้อยละ 3 คือปัจจัยอื่นๆ
สำหรับความคาดหวังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ สก.ประชาชนคิดถึงอะไรมากที่สุด กลุ่มตัวอย่างมากที่สุดจำนวนร้อยละ 38 จะนึกถึง การไปใช้สิทธิใช้เสียงแบบประชาธิปไตย รองลงมาจำนวนร้อยละ 32 นึกถึงการพัฒนาบ้านเมือง ร้อยละ 28 จะนึกถึงการแข่งขันทางการเมือง และ อีกร้อยละ 2 จะนึกถึงเรื่องอื่นๆ เป็นลำดับสุดท้าย
และในคำถามที่ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความสุจริต ยุติธรรม และโปร่งใสหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากที่สุดร้อยละ 46 ตอบว่า ไม่แน่ใจ รองลงมาจำนวนร้อยละ 28 ตอบว่า มีความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม แต่จำนวนร้อยละ 26 ตอบว่า ไม่มีความเชื่อมั่น ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดความโปร่งใสและมีความยุติธรรม
ขณะที่ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ สก. ในครั้งนี้คืออะไร กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากที่สุด ร้อยละ 29 ตอบว่าคือ นโยบายที่ใช้ในการหาเสียง รองลงมา จำนวนร้อยละ 26 คือ ความนิยมในตัวผู้สมัคร จำนวนร้อยละ 24 คือ ความนิยมในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง จำนวนร้อยละ 14 คือ วิธีการและกลยุทธ์ในการหาเสียง จำนวนร้อยละ 6 คือ จำนวนเงินที่ใช้ในการหาเสียง และลำดับสุดท้าย ร้อยละ 1 คือ ปัจจัยจากส่วนอื่นๆ
เมื่อถามว่า ผู้ว่าฯ กทม. และ สก. มีผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเมืองหลวงหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51 ตอบว่า มีผล รองลงมาร้อยละ 30 ตอบว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 19 ของกลุ่มตัวอย่างตอบว่า ไม่มีผลแต่อย่างใด
ส่วนปัญหาที่ชาว กทม. ต้องการให้มีการแก้ไขมากที่สุดอันดับหนึ่ง คือ ปัญหาเรื่องมลพิษ อันดับที่สอง คือ ปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่สูง ลำดับที่สามและสี่เท่ากันคือ ระบบขนส่งมวลชนที่ขาดประสิทธิภาพ และปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ลำดับที่ห้าคือปัญหาการจราจรติดขัด ลำดับที่หกปัญหาเรื่องขยะล้นเมือง ลำดับที่เจ็ด การแพร่ระบาดของยาเสพติด ลำดับที่แปด ปัญหาเรื่องน้ำท่วม ลำดับที่เก้า ปัญหาอาชญากรรม นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดพื้นที่สีเขียว การฝ่าฝืนวินัยจราจร ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การก่อสร้างผิดกฎหมาย การบำบัดน้ำเสีย คนเร่ร่อน ขอทาน รวมไปถึงปัญหาสุนัขจรจัด
เมื่อถามถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็น ผู้ว่าฯ กทม.ในยุคปัจจุบันว่าควรมีลักษณะอย่างไร กลุ่มตัวอย่างมากที่สุดจำนวนร้อยละ 41 ตอบว่า ควรมีความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้และรู้วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด รองลงมาจำนวนร้อยละ 27 คือเป็นผู้ที่มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมืองหลวง ร้อยละ 12 เห็นว่าควรเป็นผู้ที่รู้จักใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า โปร่งใส พอๆ กับ สามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลและส่วนราชการต่างๆ ได้ สุดท้ายร้อยละ 8 เห็นว่า ต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการเมืองขนาดใหญ่ตามลำดับ”
นอกจากนี้ดร.ธนสุวิทย์ ยังเปิดเผยเกี่ยวกับ การทำผลสำรวจแบบคำถามเดียว ในหัวข้อ หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกใครเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” กลุ่มตัวอย่างตอบและสรุปผลดังนี้ หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 28%หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 20%หมายเลข 4 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 14% หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร11%หมายเลข 14 นายธเนตร วงษา8% อื่นๆ (ยังไม่ตัดสินใจเลือกท่านใด)5% ไม่ไปใช้สิทธิ/ไม่เลือก4% หมายเลข 7 นางสาวรสนา โตสิตระกูล4%หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี 3% และหมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที 3%
อย่างไรก็ตามแม้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากยังมองการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิใช้เสียงในรูปแบบประชาธิปไตย แต่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กลับไม่มั่นใจว่าการเลือกตั้งของกรุงเทพมหานครจะมีความสุจริต โปร่งใส ประกอบกับข่าวสารที่ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องของกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองระดับชาติที่สนับสนุนตัวผู้สมัคร ทั้งอย่างชัดเจนและคลุมเครือ มากกว่านโยบายการพัฒนาเมือง การแก้ปัญหาซ้ำซากของเมือง และยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองหลวง” ที่ปรึกษาอปท.นิวส์โพลกล่าว