กูรูด้านกฎหมายสะท้อนมุมมอง เปิดปมปิดช่องนอมินี ชำแหละกฎหมายลงทุน หาทางออกจากวังวนการใช้คนไทยถือหุ้นแทนต่างชาติ

สภาทนายความร่วมกับสมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน จัดเสวนา “เปิดปมปิดช่องนอมินี ชำแหละกฎหมายลงทุนไทย-จีน” เพื่อไขข้อสงสัยและห่วงใยเรื่องทุนต่างชาติ ที่เข้ามาทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมีผลต่ออาชีพสงวนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย ดำเนินรายการโดย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน ณ ห้องประชุมชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

Advertisement

การเสวนาครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเมืองไทย ร่วมชำแหละอย่างตรงไปตรงมา เพื่อศึกษาช่องโหว่และช่องว่างของกฎหมายไทย เกี่ยวกับการทำธุรกิจและการลงทุนของคนไทยกับนักธุรกิจจากต่างชาติ โดยเฉพาะการจดทะเบียนธุรกิจที่ใช้บุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นแทน (นอมินี)  จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์และวิตกกังวลกันว่า ไทยกำลังถูกครอบงำทางเศรษฐกิจและธุรกิจจากต่างชาติ

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวเปิดงานสัมมนาว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมืองไทยจำนวนมาก จำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาข้อมูลให้ถ้วนถี่ก่อนการร่วมลงทุน เพื่อประโยชน์ทางการค้าทั้งสองฝ่าย เป็นการส่งเสริมการค้าไทยกับหุ้นส่วนที่เป็นชาวต่างชาติ ยกตัวอย่าง วิชาชีพด้านกฎหมายเป็นอาชีพสงวนของไทย แต่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบอาชีพให้คำปรึกษาด้านกฎหมายจำนวนมาก ทำอย่างไรที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ซึ่งงานสัมมนาครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเวทีหาทางออกเรื่องนี้

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดชอุดม ไกรฤทธิ์ อดีตนายกสภาทนายความและอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า นอมินีมีทุกสาขาอาชีพ มีมานานกว่า 50 ปี ก่อนหน้านี้ไม่มีกฎหมายนอมินี มีแค่อาชีพสงวนสำหรับคนไทยที่ห้ามต่างชาติเข้ามาลงทุน กระทั่งมีกฎหมาย พ.ร.บ.ต่างด้าวในปี 2542 อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เรายังเห็นนักลงทุนต่างชาติถือกระเป๋าใบเดียวเข้ามาแล้วให้คนไทยถือหุ้น 51% โดยไม่ต้องลงเงิน เป็นโครงสร้างที่ทำกันจนชิน โดยไม่มีใครร้องเรียน ทำให้ตรวจสอบลำบาก และเขายังมีวิธีซิกแซกหลากหลาย เช่น ชาวต่างชาติอยากทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขายให้คนต่างชาติ เขาไม่ทำเป็นบ้านจัดสรร แต่ใช้วิธีนำที่ดินคนไทยมาตัดแปลงขายแล้วให้สร้างบ้านเอง เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายบ้านจัดสรร หรือการเข้ามาเปิดบริษัท นำชาวต่างชาติมาเป็นกรรมการผู้จัดการและที่ปรึกษาทางธุรกิจ เขาไม่ใช้คำว่าที่ปรึกษากฎหมาย เพราะวิชาชีพกฎหมายเป็นวิชาชีพสงวน แต่เลี่ยงไปใช้คำว่าที่ปรึกษาธุรกิจแทน จึงอยากให้ภาครัฐตรวจสอบ เพราะมีจำนวนมาก

หม่อมหลวงภู่ทอง ทองใหญ่ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหานอมินีมีมานานแล้ว ซึ่งกรมฯก็พยายามปราบปรามอย่างต่อเนื่อง โดยตามกฎหมายคนไทยต้องถือหุ้น 51% ต่างชาติถือ 49% อย่างไรก็ตาม หากเราตรวจพบว่าบริษัทไหนมีต่างชาติถือหุ้นเต็ม 49% เราจะถือว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากหากเพิ่มอีกแค่ 2% ก็จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจเรารวบรวมพบว่าบริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นเต็ม 49% มีจำนวน 1.7 หมื่นราย นำมาคัดกรองตรวจสอบว่าบริษัทนี้ทำธุรกิจอะไร ใครถือหุ้น คนไทยที่ถือหุ้นมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน คัดกรองแล้วตัดออกไปประมาณกว่า 1.6 หมื่นราย เหลือ 439 รายที่มีความเสี่ยงจะเป็นนอมินี ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยเราลงพื้นที่ตรวจสอบทุกเดือน เข้าไปดูสถานที่ พูดคุยกับผู้บริหาร ทำทั้งในเชิงลับและเปิดเผย เมื่อเจอบริษัทที่เข้าข่ายนอมินีก็จะส่งข้อมูลให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบ

ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล อดีตประธานสถาบันวิจัยพัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษา บีอาร์ไอ กล่าวว่า บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะไทยมีภูมิรัฐศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ ถ้าเข้ามาตามเงื่อนไขบีโอไอก็ไม่มีปัญหา เพราะลงทุนได้ 100% แต่ถ้าเป็นบริษัททั่วไปที่ต้องร่วมทุนกับคนไทยก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย 49/51 แต่ต้องยอมรับว่าในทางปฏิบัติไม่มีใครปฏิบัติตามกฎหมายทั้งหมด เช่นมีการเปิดทำธุรกิจล้งขายผลไม้ ให้เกษตรกรไปซื้อผลไม้จากเกษตรกรมาส่งออก อันนี้ถือว่าเป็นนอมินีหรือเปล่า ซึ่งถ้าไม่มีการแก้ไขกฎหมายเราจะไม่สามารถหลุดพ้นจากปัญหานอมินีได้เลย ยกตัวอย่างสิงโปร์เปิด 100% ยกเว้นบางธุรกิจที่มีความอ่อนไหวเท่านั้น  ถ้าเราสามารถปรับกฎหมายให้เอื้อกับการลงทุนของต่างชาติมากกว่านี้ เช่นให้ถือหุ้นได้มากกว่า 49% เชื่อว่าปัญหานอมอนินี้จะลดลงไปได้มาก

สรุปผลจากการสัมมนาสะท้อนว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนอย่างรัดกุมและเข้มข้น ทั้งการทำงานแบบเอกเทศและร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ภาคธุรกิจมองว่าถ้ามีการแก้กฎหมายเอื้ออำนวยการเข้ามาลงทุนมากกว่านี้ เช่นเปิดให้ถือหุ้นจำนวนมากกว่า 49% จะช่วยให้ประเทศไทยมีเม็ดเงินเข้ามาจำนวนมาก ขณะที่ปัญหา “นอมินี” ไม่ได้มีแค่ประเทศไทย แต่มีทุกประเทศ เพียงแต่บางประเทศมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง อย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย จับได้ติดคุกอย่างเดียว คนก็เลยไม่กล้าทำ และที่เราต้องปรับปรุงทันทีคือการศึกษา สร้างคนที่มีคุณภาพ เพื่อออกมาสร้างธุรกิจของเราแข่งขันกับต่างชาติ โดยไม่ต้องเป็นเพียงนอมินีให้เขามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในบ้านเรา