“ระบบ Home room โดยอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งต้องเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้เรียนสามารถทราบถึงปัญหาด้านอารมณ์ของผู้เรียน และด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษาซึ่งคณะครุศาสตร์กำลังพัฒนาให้เป็นแหล่งการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือและหาวิธีการช่วยการปรับอารมณ์และพฤติกรรมของผู้เรียนให้เติบโตเป็นครูที่สง่างาม”
จากกระแสข่าวกรณีครูทำร้ายเด็ก จนกลายเป็นกระแสโด่งดังทางโลกออนไลน์ และหลายฝ่ายก็หวั่นจะกลายเป็นเรื่องความเข้าใจและทัศคติที่สังคมมีต่อวิชาชีพครู ซึ่งแม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่ปฏิเสธได้ยากว่า ภาพที่ออกมาจากคลิปซึ่งกำลังโด่งดังนั้น กระทบความรู้สึกของผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป
หลายคนสะเทือนใจ หลายคนรับไม่ได้ กลายมาเป็นการการตั้งคำถามถึง สาเหตุ และ จรรยาบรรณของครู!

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าข่าวและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมการแสดงออกของครูมีความรุนแรงต่อนักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนน่าตกใจ หากวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมครูที่แสดงออกกับนักเรียนอย่างรุนแรงแสดงถึงการขาดทักษะการแก้ไขปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ เกิดจากสาเหตุที่ 1. ครูมีความผิดปกติด้านจิตใจและอารมณ์ เพราะเมื่อเกิดความเครียดอาจระบายอารมณ์กับเด็กด้วยการตี ตำหนิด้วยถ้อยคำแรงๆ หรือแม้กระทั่งการบูลลี่ (Bully) ซึ่งอดีตจะเกิดระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน
แต่ปัจจุบันพบว่าเด็กหลายคนไม่อยากไปโรงเรียนเพราะถูกครูบูลลี่ก็เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ถ้อยคำที่ทำร้ายเด็กอย่างรุนแรง สาเหตุที่ 2. ครูขาดทักษะด้านการจัดการปัญหาในห้องเรียน ครูจำนวนมากยังเชื่อว่าการลงโทษด้วยการตีหรือต่อว่า เป็นวิธีการที่จะหยุดพฤติกรรมเด็กที่ไม่พึงประสงค์ได้ อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นการแสดงออกถึงอำนาจในห้องเรียน เนื่องจากโรงเรียนส่วนใหญ่มีโครงสร้างแบบอำนาจนิยม ส่งผลให้ครูมีพฤติกรรมใช้อำนาจกับเด็ก ประกอบกับการเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นลักษณะการสื่อสารทางเดียวทุกคนในห้องเรียนต้องฟังครู จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ครูขาดทักษะการฟังเด็ก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าใจผู้เรียน
แต่ต้องเน้นย้ำว่า “ไม่ควรมองภาพของพฤติกรรมครู” ในด้านนี้เพียงด้านเดียว ลองเปิดใจกว้าง แล้วนึกถึงครูในอดีตของใครหลายๆ คน ก็จะมีความประทับใจ
ในภาพครูที่แสดงออกถึงความรัก ความอ่อนโยนและเมตตาต่อศิษย์พร้อมอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือลูกศิษย์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และพฤติกรรมหรือการกระทำเหล่านี้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ระบุอยู่ในจรรยาบรรณครูชัดเจน และช่วยให้ลูกศิษย์ได้ก้าวมาถึงความเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในวันนี้
การมองภาพฤติกรรมครู จึงควรเปิดมุมมองในส่วนของพฤติกรรมส่วนตัว ซึ่งแต่ละบุคคล (ไม่เฉพาะวิชาชีพครู) แทบจะทุกอาชีพ ก็ย่อมมีมุมมองในด้านมืดด้านสว่างเช่นเดียวกัน!!!
ฉะนั้น หันมาลองมาลองมองแนวทางการผลิตครูเพื่อป้องกันแก้ปัญหากันดูดีกว่า แนวทางการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมของครู คงต้องไปเริ่มต้นจาก ระบบการศึกษา ด้านการผลิตนักศึกษาครู ในที่นี้ขออนุญาตหยิบยกการจัดกิจกรรมกรรมเพื่อหล่อหลอมนักศึกษาครูที่ดีจากของคณะครุศาตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งมีแนวทางที่เป็นระบบและชัดเจน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งเป็น Role Model แบบอย่างที่ดีให้กับบุคลากรทางการศึกษา และรองศาสตราจารย์ ดร.พัชรี สวนแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ที่ได้กำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนานักศึกษาของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งเชื่อมโยงมาสู่การบริหารจัดการของ ดร.สิทธิพร เอี่ยมเสน คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่ได้ตระหนักถึง
จิตวิญญาณความเป็นครูและมอบนโยบายด้านการจัดกิจกรรมที่ตอบสนองต่อความเป็นครูวิชาชีพ !!
ซึ่งนโยบายเหล่านี้ส่วนงานกิจการนักศึกษา คณะครุศาสตร์ ได้ตระหนักถึงการเป็นผู้ผลิตครูที่พึงประสงค์ จึงได้กำหนดกิจกรรมตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ กิจกรรมด้านทักษะศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 3R 8C เช่น ทักษะทางอาชีพ และการเรียนรู้ มีคุณธรรม มีเมตตา กรุณา มีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นคุณลักษณะพื้นฐานสำคัญของทักษะขั้นต้นทั้งหมด และเป็นคุณลักษณะที่เด็กไทยจำเป็นต้องมี การสร้างอัตลักษณ์ให้กับนักศึกษาครูด้วยความเป็นสวนดุสิต ( SDU Spirit) ประกอบด้วย การมีบุคลิกภาพดี มีสัมมาคารวะ ดำรงค์ตนอย่างมีศักดิ์ศรี ประณีตมีมาตรฐาน เป็นผู้นำอย่างเหมาะสม และที่สำคัญกิจกรรมเสริมทักษะความเป็นครูตามมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา
อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับระบบ Home room โดยอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งต้องเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้เรียนสามารถทราบถึงปัญหาด้านอารมณ์ของผู้เรียน และด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษาซึ่งคณะครุศาสตร์กำลังพัฒนาให้เป็นแหล่งการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือและหาวิธีการช่วยการปรับอารมณ์และพฤติกรรมของผู้เรียนให้เติบโตเป็นครูที่สง่างาม
ตอบโจทย์การเป็นครูที่ดี เสริมสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพครู และนี่อาจเป็นอีกแนวทางในการป้องปรามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “ครูทำร้ายนักเรียน” ที่กำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียลในขณะนี้ แต่สุดท้ายคงต้องย้ำว่า “ครูแต่ละคน มีวิธีคิดแนวคิดที่ไม่เหมือนกัน การบ่มเพาะทัศนคติต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน การป้องกันเหตุซ้ำๆ ที่สร้างความสะเทือนใจดังที่เกิดขึ้นและเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ จึงไม่ใช่เฉพาะแนวคิดของการแก้ไขปัญหาแต่ควรจะต้องทำไปพร้อมกับ “ต้นทางของปัญหา”
คือการบ่มเพาะจรรยาบรรณ และผลิตครูที่ดี ออกมาเป็นเป็นครูต้นแบบ เป็นครูที่มีจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นครูมืออาชีพอย่างแท้จริง …
ผศ.ดร.วีณัฐ สกุลหอม รองคณบดีฝ่ายบริหารและงานกิจการนักศึกษา
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต