“ คหกรรมศาสตร์ สวนดุสิต ” เปิดไอเดีย เข้าเทรนด์ชาติกำลังต้องการ นำองค์ความรู้จากห้องเรียนทำหน้ากากอนามัย(แบบผ้า)ป้องกันเชื้อโรค แถมได้ประสบการณ์ให้นศ. ได้ลงมือปฏิบัติจริง
อ.อัครพล ไวเชียงค้า ประธานสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี กล่าวถึง กิจกรรมทำหน้ากากอนามัย(แบบผ้า)ป้องกันเชื้อโรค ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาใหญ่ นั้นคือ เรื่องคุณภาพอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และการแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID- 19) ในนามมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้แสดงความห่วงใยกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และได้ออกมาตรการดูแลและป้องกันนักเรียน-นักศึกษา บุคลากร ทั้งสองเรื่องอย่างใกล้ชิดแล้วนั้น สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ วิทยาเขตสุพรรณบุรี จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือดูแลนักเรียน-นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย จึงจัดทำหน้ากากอนามัย(แบบผ้า)ป้องกันเชื้อโรค แจกจ่ายฟรี เพราะปัจจุบันหน้ากากอนามัยขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้นเป็นอย่างมาก
สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ เป็นสาขาวิชาที่เรียนทั้งหมด 5 แขนง อาทิ ด้านอาหารไทย-ขนมไทย การตัดเย็บเสื้อผ้า บ้านและที่อยู่อาศัย พัฒนาการเด็กและครอบครัว และ ศิลปะประดิษฐ์การจัดดอกไม้ งานใบตอง การแกะสลัก-ผลไม้ ซึ่งคณาจารย์ได้สอนให้นักศึกษามีองค์ความรู้ด้านวิชาการควบคู่กับการปฏิบัติ ซึ่งกิจกรรมการทำหน้ากาอนามัย(แบบผ้า)ป้องกันเชื้อโรค ถือเป็นการให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง นำองค์ความรู้จากในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยขั้นตอนการ ทำหน้ากากอนามัย (แบบผ้า) ทุกคนสามารถทำเองได้ และสามารถหาซื้ออุปกรณ์ได้ง่าย อาทิ กรรไกร เข็มเย็บผ้า ด้ายสีขาว ผ้าฝ้าย และ ยางยืด และมีวิธีการทำหน้ากากอนามัย(แบบผ้า) ดังนี้
- ตัดผ้าฝ้ายขนาด 7×8 นิ้ว จำนวน 2 ชิ้น
- พับผ้าทบครึ่งตามแนวยาว แล้วจับจีบทวิชขนาด 1.5-2 นิ้ว ตรงกลางผ้าทั้งสองชิ้น
- จากนั้น นำผ้าที่ได้หันด้านบนขึ้น 1 ชิ้น วางปลายยางยืดทั้งสองด้านที่มุมผ้าทั้งด้านบนและด้านล่างเข้าด้านใน
- วางผ้าอีกชิ้นทับชิ้นแรก แล้วเย็บขอบข้าง กะระยะให้ห่างจากขอบประมาณครึ่งเซนติเมตร และทำซ้ำแบบเดิมอีกข้างให้เหมือนกัน
- เย็บขอบด้านยาว ทั้งด้านบนและด้านล่างโดยเว้นช่องว่างเหลือไว้สำหรับกลับตะเข็บ
- กลับตะเข็บออกมาทางช่องว่างที่เว้นไว้
- ใช้ปลายกรรไกรดันมุมตะเข็บทั้ง 4 มุมให้สุดเป็นมุมฉาก
- เย็บขอบทั้ง 4 ด้าน ห่างจากขอบประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เพื่อตกแต่งให้ดูเรียบร้อยสวยงาม สุดท้าย นำหน้ากากอนามัย(แบบผ้า) มาแช่ทำความสะอาดกับน้ำยาฆ่าเชื้อ และอบให้แห้ง ก็พร้อมใช้สำหรับสวมใส่ป้องกันเชื้อโรค “ หน้ากากอนามัย(แบบผ้า) ” นอกจากหาซื้ออุปกรณ์ และมีวิธรการทำที่ง่ายแล้ว ยังสามารถนำมาซักทำความสะอาด เพื่อเก็บไว้ใช้ได้บ่อย ซึ่งทางสาขาวิชาคกรรมศาสตร์ ได้ร่วมไม้ร่วมมือกันทำทั้งหมด 500 ชิ้น และหากต้องการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควรสวมหน้ากากอนามัยและซ้อนทับด้วยทิชชูเนื้อละเอียด 2 แผ่น และควรเปลี่ยนทิชชูอย่างสม่ำเสมอ ภารกิจข้างต้น จึงเป็นการกระตุ้นการตื่นตัวของนักศึกษา และบุคลากรให้ดูแลตนเองมากขึ้น และรู้จักวิธีการป้องกันตนเองในเบื้องต้น
ด้านน.ส.ธีรนุช ภัทรบวรกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าว ว่า ตนและเพื่อนๆ เห็นข่าวและตระหนักถึงอันตรายของเชื้อโรคที่สามารถติดต่อกันทางเดินหายใจ ซึ่งการป้องกันเบื้องต้น คือ การกินร้อน ช้อนกลาง หมั่นล้างมือทำความสะอาด และสวมหน้ากากอนามัย จึงทำให้ปัจจุบันหน้ากากอนามัยขาดแคลนและมีราคาแพง ตนจึงนำความรู้ที่เรียนในห้อง มาจัดทำหน้ากากอนามัย(แบบผ้า) เพื่อใช้แจกจ่ายให้กับนักศึกษา บุคลากร และประชาชน ซึ่งรู้สึกภูมิใจที่ได้นำความรู้ที่เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนและสังคม และยังเป็นส่วนเล็กๆในการร่วมกันส่งเสริมการใช้หน้ากากอนามัยให้แก่ผู้ที่สนใจ ก่อให้เกิดการตื่นตัวในการป้องกันสุขภาพจากมลภาวะและเชื้อโรคที่กำลังเผชิญอยู่
น.ส.เกษณี อิศาสตร์ ตัวแทนนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมอีกคน กล่าวเสริมว่า ตนรู้สึกดีใจที่ได้มาทำหน้ากากอนามัย(แบบผ้า) ซึ่งตนเองก็ไม่เคยทำมาก่อน แต่ได้นำความรู้ในรายวิชาผ้า (การใช้จักรเย็บผ้า) มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งถ้าหากมองขั้นตอนการทำ เชื่อว่าทุกคนสามารถทำตามได้ง่าย จึงอยากเชิญชวนให้ให้ทุกคนลองทำตามดู ประหยัด และทำได้ง่ายกว่าที่เราคิด เพื่อสวมใส่ป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากมลพิษ สารพิษ และเชื้อโรค สามารถคลายความกังวลใจในภาวะฝุ่นที่เกิดขึ้น เพราะเราสามารถป้องกันได้ด้วยหน้ากากอนามัย