สัปดาห์หน้าคลอด พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง “วิษณุ” ชี้ชัดหย่อนบัตร 24 มี.ค.

“วิษณุ” ส่งสัญญาณหย่อนบัตร 24 มี.ค. แย้มสัปดาห์หน้าประกาศใช้ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ฉะ “สมชัย” อย่าจินตนาการมากไป ยันไม่มีโมฆะแน่

Advertisement

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความชัดเจนการกำหนดวันเลือกตั้ง ว่า เป็นหน้าที่ของ กกต. อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเป็นห่วงอยู่เพียงเรื่องที่จะไปทับซ้อนกับงานพระราชพิธีเท่านั้น เพราะการประกาศผลการเลือกตั้งวันใดมีความหมายมาก เพราะเป็นการนับหนึ่งที่จะกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทูลเสร็จเปิดสภาภายใน 15 วันหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ดังนั้นที่เกรงกันก็คือ เรื่องการประกาศผลการเลือกตั้งไปก่อน แล้วนับ 15 วันจะไปอยู่ในช่วงพระราชพิธีหรือไม่ จึงได้พูดคุยกันว่าให้ยึดวันที่ 9 พ.ค.เป็นหลัก และหากวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มี.ค.ก็จะห่างอยู่ประมาณ 45-47 วัน และ กกต.ทำได้ทัน และไม่ติดพระราชพิธีใดๆ ดังนั้นจะให้อยู่ในกรอบวันที่ 9 พ.ค.

ส่วนข้อห่วงใยระยะเวลา 45-47 วันการรณรงค์หาเสียงเพียงพอหรือไม่นั้น นายวิษณุ เห็นว่าในอดีตที่ผ่านมาเป็นเวลาที่พอดี แต่บังเอิญว่าคราวนี้พิเศษ เนื่องจากจะเป็นบัตรเลือกตั้งใบเเดียว เลือก 2 ชนิด และการนับคะแนน จะต้องมีวิธีการคิดเพื่อให้เกิดเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ก็อาจมีปัญหาล่าช้า แต่ถ้าหาก กกต.เชื่อว่าสามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิดปัญหาอะไร และสมมติว่าถ้าถึงวันที่ 9 พ.ค.แล้วยังไม่เสร็จ ยังต้องนับคะแนนต่อ ยังไม่สามารถประกาศผลได้นั้น ก็เห็นว่าไม่มีข้อขัดแย้งอะไร หากตอนนั้นสงสัยคิดว่าไม่ทันแล้วจะเกินเวลาจะไปถามศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

“ผมและนักกฎหมายทั้งหลาย หรือแม้แต่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เอง ซึ่งเคยชี้แจงในสภาว่าการประกาศผลการเลือกตั้งช่วง 60 วัน เป็นคนละเรื่องกับ 150 วัน ผมเห็นว่าถ้ายังไม่เสร็จก็ยังสามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าจะมีคนเถียงหรือท้วง ว่าไม่ได้จะต้องให้แล้วเสร็จ อย่าง อ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ก็ท้วงอยู่คนเดียว ท้วงมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ก็ไม่เป็นไร ถ้าสงสัยในตอนนั้น แล้วกลัวว่าไม่เสร็จไม่ทัน ค่อยไปยื่นหารือศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะไปหารือในวันนี้ อย่าตีตนไปก่อนไข้ ไม่ทันเห็นน้ำแล้วรีบตักกระบอก ไม่เห็นกระรอกก็จะโก่งหน้าไม้ เพราะเลือกก็ยังไม่เลือก แล้วไปคิดก่อนว่ามันจะไม่เสร็จมันจะไม่ทัน แล้วจะเกินเวลา แล้วจะโมฆะ คิดอย่างนั้นจินตนาการมากไปแล้วล่ะ”

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่า วันที่ 3 มี.ค. และ 10 มี.ค.อาจจะกระชั้นไปเมื่อเทียบกับวันที่จะประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง และจะเหลือระยะเวลาหาเสียงสั้น ถ้าเป็น 17 มี.ค.อาจมีปัญหากับเด็กที่สอบ TCAS จำนวนเป็นแสนคน และเป็นวัยที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งนั้น ดังนั้นจึงเหลือวันที่ 24 มี.ค.ซึ่งก็น่าจะเหมาะที่สุด และพระราชกฤษฎีกาก็น่าจะประกาศใช้ได้ในสัปดาห์หน้า