‘วันเด็กแห่งชาติ2562′ คอมเมนต์จากใจพ่อแม่ ต่อคำขวัญของ’ลุงตู่’

วันเด็กแห่งชาติ 12 มกราคม 2562 เป็นเด็กที่ดีในวันนี้ จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า! เผยคอมเมนต์คำขวัญวันเด็กจากใจผู้ปกครอง ‘เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ’

Advertisement

“เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ” คือคำขวัญวันเด็กในปี 2562 ที่ลุงตู่ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งมอบให้เด็กเยาวชนไทยในวันเด็กแห่งชาติปี 2562 ซึ่งตรงกับวันที่ 12 มกราคม 2562 หรือทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมในทุกๆ ปี

สำหรับวันเด็กปีนี้ เว็บไซต์สยามบิสซิเนส นิวส์ ได้สอบถามความคิดเห็นจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ต่อคำขวัญวันเด็ก ว่าจะเป็นแรงบันดาลให้เด็กยึดเป็นแบบอย่างและเติบโตเป็นคนที่ดีได้อย่างไร เพราะทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ ก็เคยผ่านพ้นวัยเด็กมาก่อน ย่อมมีความทรงจำดีๆต่างๆมากมายในช่วงเวลานั้น

ซึ่งเด็กที่มีคุณภาพจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ดั่งคำที่ว่า ‘เด็กฉลาด ชาติเจริญ’ โดยความคิดเห็นที่ได้รวบรวมมาให้อ่านกัน มีดังต่อไปนี้

ภู่-ปุณยวีร์ เฉลิมญาติ อาชีพขายกล้วยปิ้ง

ก็ดีนะ ที่ส่งเสริมให้เด็กๆ ได้ไปทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม ดีกว่าไปทำอะไรที่ไม่ดี แต่คำว่า”จิตอาสา”อาจจะเข้าใจยากเกินไปสำหรับเด็กๆ อย่างไรก็ตาม คิดว่าการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนช่วยพัฒนาชาติเป็นเรื่องที่ดี แต่ผู้ใหญ่ก็จะต้องไม่ปิดกั้นความคิดเด็ก เปิดให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ผู้ใหญ่เอาแต่ความคิดเห็นของตนเองเป็นหลัก หากเป็นอย่างนั้นจะถือว่าร่วมกันพัฒนาชาติได้อย่างไร

นี-วันทนีย์ เพ็ชรจันทร อาชีพขายน้ำมะพร้าวปั่น

เป็นคำขวัญวันเด็กที่สั้น กะทัดรัด จำง่าย แต่ฟังดูแล้วห้วนๆ ไม่กินใจอะไร เด็กไม่น่าจะเกิดความประทับใจอะไรมากมายนัก ไม่เหมือนคำขวัญวันเด็กสมัยหลายสิบปีก่อนหน้านี้ ที่มีความคล้องจอง จดจำได้ง่าย เด็กๆ ท่องจำได้ขึ้นใจ ส่วนคำว่า “จิตอาสา” ส่วนตัวคิดว่า มันลึกซึ้งมากกว่าเด็กเล็กๆ ทั่วไปจะเข้าใจและประทับใจความหมายของคำๆ นี้

กานต์รวี (นามสมมุติ) อาชีพขายข้าวโพดปิ้ง

สั้นมาก เหมือนคนแต่งได้แต่งขึ้นมาโดยที่ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ที่ฟังประโยคโดยรวมของคำขวัญทั้งหมด ก็คิดว่าเป็นคำขวัญที่มีสิ่งที่ดีๆ อยู่ข้างใน สอนให้เด็กได้รับรู้ถึงหน้าที่ของตัวเอง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

พี่ปลาหมึก(นามสมมุติ) อาชีพขายลูกชิ้นปิ้ง-ปลาหมึกย่าง

เป็นคำขวัญที่ดีที่ท่านนายกฯ คิดขึ้นมาให้เด็กๆ แต่ก็รู้สึกว่า คำว่า“จิตอาสา” อาจยากเกินไปที่เด็กๆ จะเข้าใจ ส่วนตัวเห็นว่าคำขวัญวันเด็กควรเป็นคำที่เด็กๆ เข้าใจความหมายได้ง่าย อยากฝากผู้ใหญ่ไว้ตรงนี้ด้วย

หนิง-อุมาพร เด็ดดวง เจ้าของธุรกิจน้ำมะพร้าวปั่น

คำขวัญไม่โอเค น่าจะเหมาะกับคนโตมากกว่าเด็ก มองว่าเป็นคำขวัญเบาๆ ไม่ตรงกับวันเด็กเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังเห็นว่า คำว่า “จิตอาสาพัฒนาชาติ” เป็นคำที่ดี ฝึกเด็กให้มีความคิดเป็นจิตอาสา ที่จะทำเพื่อประเทศชาติ

ประวัติวันเด็กแห่งชาติ

วันเด็กแห่งชาติเริ่มต้นจัดงานวันเด็กครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 โดยได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม เป็นวันเด็กแห่งชาติ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2506 ได้มีมติเปลี่ยนแปลงวันเด็กแห่งชาติมาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม โดยเริ่มจัดงานวันเด็กในปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา

ในปี พ.ศ. 2498 อันเป็นปีที่ทั่วโลกเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติกันขึ้น ซึ่งจะเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ตามความเห็นคล้อยตามกับองค์การสหประชาชาติ ที่นำปัญหาเรื่องเด็กมาร่างเป็นปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของเด็ก

ประเทศไทยได้รับข้อเสนอของ วี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ ผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ว่าประเทศไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น ดังที่นานาประเทศกำลังทำอยู่

ขณะนั้น สภาวัฒนธรรมแห่งชาติยังมิได้ถูกยุบเลิกไป คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา ในที่สุดที่ประชุมได้เห็นชอบนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีรับหลักการ ให้จัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการรับไปดำเนินการ ส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดงานนั้น ได้อนุมัติเงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลมาดำเนินการ

ดังนั้น ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ประเทศไทยจึงมีงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นเป็นต้นมา ทางราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติ และจัดติดต่อกันมาจนถึงปี พ.ศ. 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่เพื่อความเหมาะสม ด้วยเหตุผลว่า ในเดือนตุลาคม ประเทศไทยยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็กไม่สะดวกในการมาร่วมงาน

ประการต่อมาก็คือ วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้ ตลอดจนการจราจรก็ติดขัด อีกทั้งการที่กำหนดให้วันเด็กต้องจัดในช่วงต้นปี มีความหมายว่า ทุกภาคส่วนของประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับเด็กเป็นอันดับแรกๆ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสนอ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา