ฐานะแบงก์ไทยเริ่มทรุด?ดิ้นขูดรีดชาวบ้านผ่าน ATM

ภาพประกอบข่าวจากแฟ้ม

เป็นอีกกระแสที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือ แบงก์พาณิชย์ เตรียมหารือ แบงก์ชาติ ถึงแผนเก็บค่าธรรมเนียมถอนเงินสด-เช็ค ทั้งจากตู้เอทีเอ็ม-หน้าเคาน์เตอร์

Advertisement

โดย นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมธนาคารไทย รวมถึงธนาคารต่างๆ ได้หารือเรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสด หน้าเคาน์เตอร์ และเครื่องเอทีเอ็มจริง ซึ่งมีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีข้อสรุป เพราะธปท.ต้องการพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนอนุญาตให้แบงค์สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมเงินสด หรือการใช้เช็คเงินสดต่างๆ ได้

สาเหตุที่ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมเบิกถอนเงินสด เพราะธุรกรรมส่วนนี้เป็นต้นทุนที่สูงของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการเงินสดตู้เอทีเอ็ม และพนักงาน

ภาพประกอบข่าวจากแฟ้ม

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ในอนาคตเมื่อธุรกรรมเกือบทั้งหมดอยู่บนช่องทางออนไลน์มากขึ้น คาดว่าการเก็บค่าธรรมเนียม จากการทำธุรกรรมผ่านเงินสด หรือผ่านเช็คเงินสด น่าจะเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้หารือร่วมกับธปท.ไปหลายครั้งแล้ว ส่วนจะสามารถเก็บได้ในเร็วๆ นี้หรือไม่ เชื่อว่าธปท.คงอยู่ระหว่างการพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทั้งการหันไปใช้คิวอาร์โค้ด และพร้อมเพย์

การที่ นายแบงก์ ต้องการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม น่าจะมีผลกระทบมาจาก ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา คนไม่กล้าขยายการลงทุน อีกทั้งแบงก์เองก็ต้องเข้มงวดการปล่อยกู้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะ “หนี้เสีย” เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากทั้งหนี้ส่วนบุคคล และโครงการต่างๆ ตามภาวะเศรษฐกิจ

ภาพประกอบข่าวจากแฟ้ม

บล.เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์เรื่องการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์หลัง ผู้ว่า ธปท. แสดงความกังวลต่อการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีการปล่อยสินเชื่ออย่างหละหลวม และล่าสุด ธปท.เตรียมเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง มาหารือเรื่องมาตรการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น

ฝ่ายวิจัยเอเซีย พลัส ได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของแบงก์พาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย พบว่าในช่วงปี 2555 จนถึงครึ่งแรกของปี 2561 เติบโตราว 9.4% โดยเป็นการเติบโตของ 10 แบงก์ที่ฝ่ายวิจัยฯศึกษาอยู่ราว 7.6%

เมื่อเจาะลึกเข้าไปดูคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยของกลุ่มแบงก์ 10 แห่งที่ศึกษา ในช่วงปี 2555 จนถึงครึ่งแรกปี 2561 พบว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) บวกกับสินเชื่อ SM หรือ special mention loan ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ค้างชำระตั้งแต่ 30-90 วัน และหมายถึงสินเชื่อที่มีโอกาสไหลตกชั้นไปเป็นเอ็นพีแอล เฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 14.4%…ตัวเลขน่าตกใจ!

โดยแบงก์ที่มี NPL จากสินเชื่อที่อยู่อาศัย บวกสินเชื่อ SM เร่งตัวขึ้นจนสูงกว่ากลุ่ม มี 3 แบงก์ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เพิ่มจาก 2.94% เป็น 7.01% สูงกว่ากลุ่มที่เพิ่มจาก 3.87% เป็น 5.41% รองลงมาคือธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพิ่มจาก 2.62% เป็น 6.75% และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพิ่มจาก 3.89% เป็น 5.20%

จากบทวิเคราะห์ดังกล่าว พบว่า NPL ในหลายแบงก์ใหญ่ กำลังโตแบบ “ก้าวกระโดด”สถานการณ์ที่ NPL เร่งตัวเร็วขึ้น จึงส่งผลให้แบงก์ต้องหารายได้ทางอื่น เพื่อมาเตรียมไว้ “ตั้งสำรอง” เพื่อรับมือกับภัยเศรษฐกิจแน่นอนว่า ในสถานการณ์คาบลูกคาบดอก แบงก์คงต้องดิ้นรนจนสุดความสามารถที่ต้องเร่งผลักดันให้ แบงก์ชาติ อนุมัติเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเป็นการด่วน!

แต่ทาง แบงก์ชาติ เอง ก็ต้องพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจด้วย เพราะถ้าอนุมัติขึ้นค่าธรรมเนียมตอนนี้ จะกลายเป็น “การซ้ำเติม” ประชาชนระดับล่าง ที่กำลังตกที่นั่งลำบากทีนี้ก็ต้องมาวัดใจ “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าฯธปท. ว่าจะตัดสินใจในเรื่องนี้ยังไง?

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าฯธปท.

อย่าลืมว่า ประชาชนกำลังแย่ หนี้ครัวเรือนสูงถึง 77% ของ GDP ยอดพุ่งทะลุไป 12 ล้านล้านบาท และกำลังเป็น “ปัญหาใหญ่” ของ ระบบเศรษฐกิจไทย!!

ในขณะที่รัฐบาลเร่งเก็บภาษีเพิ่มในทุกๆ ด้าน เพราะตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้สูงมาก ทะลุ 3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะ “ภาษีน้ำมัน” ที่เก็บแพงจนราคาน้ำมันไทย “แพงเกินจริง” สวนทางกับภาวะน้ำมันในตลาดโลก ที่ปรับลดลงมากถึง 30% จากบาร์เรลละ 75 เหรียญ ลงมาเหลือ 50 เหรียญ

ถ้า แบงก์ชาติ ตัดสินใจ “ซ้ำเติมประชาชน” ด้วยการให้แบงก์เพิ่มค่าธรรมเนียมอีก กลัวว่าประชาชนจะแบกภาระต่อไปไม่ไหว เพราะโดนทั้งรัฐบาล และภาคเอกชน “ขูดรีด” จนไม่เหลือเลือดให้สูบอีกต่อไป…

 

เทวัญ จงกลรอด