กระทรวงสาธารณสุข เร่งให้ความรู้ “โรคซึมเศร้า” ให้ประชาชนและครอบครัว สังเกตอาการ ประเมินโรคซึมเศร้าด้วยตนเองทางเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต แอปพลิเคชั่น smilehub หรือโทร1323
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่า ในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นสาเหตุการสูญเสียปีสุขภาวะสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจหลอดเลือด โดยวัดจากปีสุขภาวะที่สูญเสียไปจากโรคและการบาดเจ็บของประชากร (Disability-Adjusted Life Years-DALYs) จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับประเทศไทยถือเป็นปัญหาที่เฝ้าจับตามองอันดับ 4 เป็นเรื่องที่สังคมต้องให้ความสำคัญ เพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้หากมีอาการรุนแรงจะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย หรือมีชีวิตคล้ายคนพิการทางสมอง ไม่สามารถทำงานได้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด โดยกรมสุขภาพจิตได้ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคนี้แก่ประชาชน และเพิ่มการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถเข้าถึงบริการได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 50 อย่างไรก็ดี ได้กำชับให้เจ้าสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข เร่งให้ความรู้ประชาชน ครอบครัว เพื่อให้สามารถสังเกตอาการและเฝ้าระวังความผิดปกติของตนเองหรือผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ วัยรุ่น ผู้มีโรคประจำตัว และส่งเข้ารับคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
นายแพทย์เจษฎากล่าวต่อว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ขอให้ประชาชนใช้เวลากับครอบครัวอย่างมีอบอุ่น สร้างความสัมพันธ์ ความผูกพันในครอบครัว กลับไปอยู่กับพ่อแม่ ผู้สูงอายุ อย่าให้ท่านรู้สึกโดดเดี่ยวหรือถูกทอดทิ้ง นอกจากนี้ อาจใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นตัวช่วยสร้างความเข้มแข็งของสายใยครอบครัว เช่น ไลน์กลุ่มครอบครัว ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุ ได้เห็นข้อมูลข่าวสารของลูกหลาน และข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ด้วย
ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในผู้ที่เริ่มมีอาการจะสามารถสังเกตตนเองได้ แต่หากมีอาการรุนแรง ครอบครัว ผู้ใกล้ชิด จะต้องช่วยกันสังเกตว่า มีอาการดังต่อไปนี้ 1.มีอารณ์ซึมเศร้า 2.ความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก 3.น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก 4.นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป 5.กระวนกระวายอยู่ไม่สุขหรือเชื่องช้าลง 6.อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง 7.รู้สึกตนเองไร้ค่า 8.สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด 9.คิดเรื่องการตายหรือคิดอยากตาย หากพบอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ หรือมีอาการ 5 ข้อหรือมากกว่า เป็นอยู่อยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และมีอาการตลอดเวลา แทบทุกวัน หมายถึงมีภาวะซึมเศร้า ควรได้รับบริการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือพบแพทย์เพื่อการบำบัดรักษา
ทั้งนี้ โรคนี้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนใหญ่มาจากปัญหา “กาย จิต สังคม” ทางกาย เช่น ผู้ป่วยมีความผิดปกติของระดับสารเคมีที่เซลล์สมองสร้างขึ้นเพื่อรักษาสมดุลย์ของอารมณ์ มีประวัติโรคซึมเศร้าในครอบครัว ซึ่งการรักษาจะใช้ยาช่วยปรับระดับสารเคมีในสมอง ทางจิตใจ ผู้ป่วยจะมีความคิดด้านลบกับทุกสิ่ง ในการแก้ไขจะใช้พฤติกรรมบำบัดโดยนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ และทางสังคม จากปัญหาครอบครัว การทำงาน การเรียน ยาเสพติด เป็นต้น ประชาชนสามารถประเมินตนเองด้วยแบบประเมินโรคซึมเศร้าได้ ทางเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต http://www.dmh.com/ และแอปพลิเคชั่น smilehub หรือปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง