รมว.คมนาคม ลงพื้นที่เหตุคานสะพานก่อสร้างพระราม 2 ทรุดตัว เร่งสอบหาสาเหตุ สั่งห้ามเกิดซ้ำ เน้นความปลอดภัยสูงสุด

“สุริยะ” แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง พร้อมบินด่วนหลังประชุม ครม.สัญจร ลงพื้นที่เกิดเหตุคานสะพานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ทรุดตัว เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ – สูญหาย – เสียชีวิต สั่ง ทล. เยียวยาเต็มที่ ลุยตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง มอบหมายดำเนินมาตรการเผชิญเหตุ เร่งหารือกรมบัญชีกลางใช้สมุดพกคาดโทษผู้รับเหมา ลั่น! ห้ามเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก คำนึงความปลอดภัยในระดับสูงสุด

Advertisement

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากเหตุคานสะพานก่อสร้างทรุดตัว บนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ช่องทางหลัก กม. ที่ 21+100 ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เวลาประมาณ 04.00 น. ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิต จำนวน 1 ราย ผู้สูญหาย จำนวน 3 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 11 ราย นั้น ตนขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้หายเจ็บป่วยโดยเร็ว พร้อมทั้ง ได้สั่งการไปยังนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เยียวยาต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จังหวัดเชียงใหม่ในวันนี้ เวลาประมาณ 17.30 น. ตนจะลงพื้นที่ที่เกิดเหตุโดยด่วนด้วย

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ ทล. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหาข้อสรุปภายใน 15 วัน พร้อมทั้งดำเนินมาตรการตามมิติขณะเผชิญเหตุ โดยให้ตรวจสอบช่วยเหลือคนงานผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุอย่างเต็มที่ อีกทั้งกำกับการควบคุมการรื้อย้ายโครงสร้างและเครื่องจักรที่เสียหายโดยวุฒิวิศวกรเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำขึ้นอีก รวมถึงตรวจสอบความปลอดภัยให้มั่นใจก่อนเปิดการจราจรด้วย

นอกจากนี้ ได้กำชับให้เพิ่มมาตรการการตรวจสอบการทำงานของผู้รับจ้างที่ต้องมีผู้จัดการด้านความปลอดภัย (Safety Manager) ของทั้งผู้รับจ้างและหน่วยงานรัฐ อาทิ ทล. ทำการตรวจสอบร่วมกันก่อนที่จะอนุญาตให้ยกหรือถอดโครงสร้างชั่วคราวที่รับน้ำหนัก รวมทั้งเร่งรัดกรมบัญชีกลางให้นำมาตรการสมุดพกผู้รับเหมามาใช้ตรวจสอบผู้รับเหมา และจะพิจารณานำระบบมาตรฐานสากล เช่น ISO ด้านความปลอดภัยมาใช้ควบคุม อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นอาจต้องยกระดับชั้นผู้รับเหมาชั้นที่เหนือชั้นพิเศษมาใช้ เพื่อทำงานยากและมีการทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อสาธารณชน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในระดับสูงสุด