“กขป.เขตพื้นที่ 4 ”นครจตุบุรีศรีปทุมทอง” เกี่ยวก้อยร้อยแขนแกนนำสื่อมวลชนจิตอาสา 8 จังหวัดภาคกลาง ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม”
ที่โรงแรมอโยธยาริเวอไซด์ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขตพื้นที่ 4 หรือ“กขป.เขต 4”เปิดเผยว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ.2559 กำหนดให้จัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน 13 เขตพื้นที่ เพื่อให้เป็นเขตพื้นที่สำหรับดำเนินการขับเคลื่อน การปฏิรูประบบสุขภาพ โดยมีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนที่มาจาก 6 ภาคส่วนคือ ภาคราชการ ภาควิชาการภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน จำนวน 45 คน ทำหน้าที่ในการกำหนดเป้าหมาย และยุทธศาสตร์เกี่ยวกับระบบสุขภาพ บูรณาการภารกิจอำนาจหน้าที่ เน้นการมีส่วนร่วมเชื่อมร้อยภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ดำเนินงานตามเครื่องมือหลักที่ระบุใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 อันประกอบด้วย ธรรมนูญสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่ผ่านมาการดำเนินงานของคณะกรรมการ ของ กขป.เขต 4 ได้พยายามสื่อสารและประชาสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง
แต่ยังไม่ค่อยแพร่หลาย ทำให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆยังไม่ทราบถึงทิศทางและภารกิจที่ชัดเจน จึงจัดประชุม “เวทีสานพลังเครือข่ายสื่อมวลชนจิตอาสาขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เชตพื้นที่ 4” มีวัตถุประสงค์ เพื่อบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 4 ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด/ผู้แทนเครือข่ายสื่อมวลชนจิตอาสาในเขตสุขภาพที่ 4 และสำนักงานกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมสร้างศักยภาพภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนจิตอาสา ในการขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะ ของเขตสุขภาพพื้นที่ 4
ด้าน ดร.วิสุทธิ์ สุกรินทร์ เลขานุการร่วม กล่าวเพิ่มเติมว่าในการจัดงานครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานรวม 60 คน จากแกนนำเครือข่ายสื่อมวลชนจิตอาสา และแกนนำภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ 8 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรีและนครนายก กิจกรรมนอกจากการบรรยายพิเศษ “เกี่ยวกับบทบาท/ผลการดำเนินงานของ กขป.เชตพื้นที่ 4 แล้วยังได้จัดให้มีวงเสวนา “ทิศทางและความท้าทายของความร่วมมือกับเครือข่ายสื่อมวลชนจิตอาสาในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ จำนวน 4 ประเด็น คือ 1.การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและกลุ่มคนเปราะบาง 2. การส่งเสริมการบริโภคอาหารและยาที่ปลอดภัย 3. การป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและ 4.การจัดการสิ่งแวดล้อมในเรื่องการจัดการขยะและแก้ไขมลภาวะจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก พี.เอ็ม 2.5
สำหรับช่วงบ่าย พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระญาณไตรโลก ท่านรองเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แสดง“ปาฐกถาธรรมและแจกวัตถุมงคล”เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน ต่อด้วยการประชุมกลุ่มระดมความคิดเห็น สร้างเป้าหมายร่วมของการสื่อสารบนพื้นฐาน “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” วิเคราะห์สถานการณ์จุดแข็ง จุดอ่อนและกำหนดแนวทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และท้ายสุดของการประชุมได้“เปิดโลกกว้างล่องเรือศึกษาธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยา”