คมนาคม เล็งปรับความเร็วรถวิ่ง 120 กม./ชม.

“ศักดิ์สยาม” ฟิตมอบนโยบาย 5 ด้าน 4 นโยบายเร่งด่วน บิ๊กคมนาคม พร้อมแบ่งงาน 2 รมช. เล็งปรับความเร็วรถวิ่ง 120 กม./ชม. หวังระบายการจราจรให้คล่องตัว เตรียมศึกษาข้อดีข้อเสียก่อนปรับใช้

Advertisement

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัด พร้อมมอบนโยบายการบริหารงานแก่ผู้บริหารและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมลงนามในคำสั่งที่ 241/62 ในการแบ่งความรับผิดในการกำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม

โดยนายอธิรัฐกำกับดูแลหน่วยงาน คือ กรมเจ้าท่า (จท.) และ การท่าเรือแห่งประเทศไทย นายถาวร กำกับดูแลหน่วยงาน คือ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด บริษัท ไทย-อะมาดิอุส เชาท์อีสต์ เอเชีย จำกัด

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม จะกำกับดูแล หน่วยงาน คือ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กรมการขนส่งทางราง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.)

สำหรับนโยบายทั้งหมด 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.การบริการประชาชนให้ได้รับความสะดวก 2.ลดภาระค่าครองชีพของประชาชนโดยไม่เป็นภารงบประมาณรัฐบาล 3.การบริหารทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ 4.ยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน และ 5.ทุกโครงการของกระทรวงคมนาคมต้องโปร่งใส โดยมีนโยบายเร่งด่วน 1) การแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ( โครงการปรับปรุงถนนพระราม 2 2) การแก้ไขปัญหามลภาวะ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะ โดยเข้มงวดการตรวจสอบสภาพรถให้เป็นไปตามกฎหมาย 3) ปรับเวลารถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เข้าเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรและการใช้รถใช้ถนนของประชาชนในปัจจุบัน โดยกำหนดเวลาวิ่งอยู่ที่ ช่วง 24.00 -04.00 น. 4) กำหนดอัตราความเร็วถนน 4 ช่องทางจราจรขึ้นไป ให้ใช้อัตราความเร็วได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัวยิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องศึกษาข้อดีและข้อเสียก่อน รวมถึงประสานงานกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย ทั้งนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูล และนำเสนอแผนการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทั้ง 4 เรื่อง ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

สำหรับนโยบายลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ต้องดำเนินการพัฒนาการให้บริการรถโดยสารประจำทาง ขสมก. และรถร่วมโดยสารประจำทาง ให้เป็นรถโดยสารปรับอากาศทั้งระบบ และมีการจัดเก็บค่าโดยสารเป็นระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E–Ticket ระบบตั๋วร่วม พร้อมทั้ง ศึกษาแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า โดยไม่มีผลกระทบต่อสัญญาสัมปทาน และการ ศึกษาแนวทางการปรับลดค่าผ่านทางพิเศษทุกประเภท ทั้งทางพิเศษ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และโทลล์เวย์ ให้อยู่ภายใต้กฎหมายโดยไม่มีผลกระทบต่อสัญญา และพร้อมเปิดรับฟังข้อมูลจากข้าราชการ และสหภาพรัฐวิสาหกิจ ของทุกหน่วยงานในสังกัดมาช่วยพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายต่างๆ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม ตั้งเป้าภายใน 3 ปี เพิ่มระบบการขนส่งทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ รองรับปริมาณการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชน ควบคู่นโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศภายใต้หลักการ Thai First

นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงนโยบายในการพัฒนาการระบบคมนาคมขนส่งทางราง ว่าภายในระยะเวลา 3 ปี ตั้งเป้าจะ เพิ่มการขนส่งระบบรางเป็นร้อยละ 30 จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 เพื่อให้เป็นระบบโลจิสติกส์หลักในการขนส่งสินค้า โดยจะสนับสนุนภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ขณะที่การพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำ ให้เป็นการเดินทางและการขนส่งทางเลือกในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเชื่อมโยงกับการคมนาคมขนส่งระบบอื่นๆได้

นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาการขนส่งทางน้ำจากท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อลดปริมาณรถบรรทุกจากภาคใต้เข้าสู่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้ประมาณ 60,000 คัน สำหรับการพัฒนาการระบบขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายที่จะ เพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูมิภาค เกือบ 50 แห่ง ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 150 ล้านคนต่อปี ควบคู่กับการสนับสนุนสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) ให้บริการประชาชนในภูมิภาคเพิ่มขึ้น และเป็นไปตามมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม การจัดทำโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมต้องเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักการ Thai First คือ ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน เป็นหลักสำคัญ เพิ่มการใช้วัสดุทดแทนที่ผลิตจากยางพารา ในโครงการต่าง ๆ เช่น แบริเออ หลักเขตบอกทาง หมอนรางรถไฟ เป็นต้น เพื่อช่วยยกระดับราคายางพารา แก้ปัญหารายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง และ ส่งเสริมให้ท่าอากาศยานภูมิภาคเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิต และกระจายสินค้าเกษตรออกสู่ตลาด