และแล้วก็เป็นไปตามคาด เกี่ยวกับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่หลายฝ่ายคาดการณ์ถึง “ขาขึ้น” มาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะคาดการณ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการจับตามองและคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะอัตราดอกเบี้ย มาก่อนหน้านี้ ที่สะท้อนภาพตรงกันถึง “ขาขึ้น”
ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25 % ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 1.50% ปรับเป็น 1.75 % ต่อปี ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า ทาง กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง และเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานานในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพและกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
กรรมการ 5 เสียง ส่วนใหญ่ ระบุว่า มีความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากที่ผ่านมาให้ลดน้อยลง จึงมีมติเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ พร้อมกับประเมินว่าการขยายตัวเศรษฐกิจได้ต่อเนื่องเป็นไปตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ กนง. จะติดตามความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่าง สหรัฐฯ และจีน ที่อาจจะกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปียังมีแนวโน้มทรงตัว แต่มีความเสี่ยงด้านต่่าจากความผันผวนของราคา พลังงานและราคาอาหารสด
หากเทียบอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศตามที่ ธปท.ยกมาอ้างอิง พบว่า ไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เช่น อินโดนีเซียอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 6% ฟิลิปปินส์ 4.75% จีน 4.35% มาเลเซีย 3.25% เป็นต้น”
ทั้งนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวจะส่งผลโดยตรงต่อผู้ที่ยังมีภาระชำระค่างวดต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ที่จะแม้จะมีการปรับเกณฑ์การผ่อนชำระให้เหมาะกับฐานรายได้แล้วก็ตาม แต่เมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นก็อาจทำให้การผ่อนชำระช้าลง เพราะอาจมีการปรับระดับเวลาของการผ่อนชำระ ด้วยการลดการหักเงินต้น หรือ อาจมีการปรับตารางการผ่อนต่อเดือนสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามวินิจฉัยของสถาบันการเงิน และ เจ้าหนี้แต่ละแห่ง
เครดิตคลิป เพจธนาคารแห่งประเทศไทย