กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรการช่วยผู้ประกอบการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม มาตรการพักชำระหนี้ SMEs ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และสินเชื่อให้กู้ยืม สำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่น้ำท่วม เว้นจ่ายค่าธรรมเนียมโรงงานรายปี
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้สั่งการให้หน่วยงาน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เตรียมมาตรการป้องกัน ฟื้นฟูและเยียวยาสถานประกอบกิจการโรงงาน เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย
ทั้งนี้เตรียมออกมาตรการฟื้นฟูสถานประกอบการภายหลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายและภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อเข้าร่วมทำความสะอาด ตรวจเช็คเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า และซ่อมแซมเครื่องจักรอุปกรณ์ ภายหลังน้ำลด
นอกจากนี้ยังมีมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องจักร ค่าธรรมเนียมตรวจควบคุมคุณภาพ ค่าธรรมเนียมการตรวจติดตามทั้งร้านจำหน่ายและผู้ผลิต โดยระยะเวลาที่ยกเว้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป
ขณะเดียวกันได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ โดยลูกค้าธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank สามารถพักชำระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนได้ สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ อัตราดอกเบี้ย 4.99% ต่อปี ซึ่งได้เตรียมวงเงินสำหรับโครงการนี้ 15 ล้านบาท ให้กู้สำหรับลูกค้าเดิมของเอสเอ็มอีแบงค์ ส่วนเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนเพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจหลังอุทกภัยผ่านไป SME Bankได้มีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษไว้รองรับ สำหรับใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ และหมุนเวียนธุรกิจ
อย่างไรก็ตามกระทรวงฯยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจภายในศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs (SMEs Support and Rescue Center: SSRC) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานการให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยทันที และได้บริจาคเงิน สิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สุขาเคลื่อนที่ เรือ สำหรับใช้ในพื้นที่อุทกภัย โดยจากการติดตามสถานการณ์และจากรายงานของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ขณะนี้ยังไม่มีโรงงาน เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยอย่างรุนแรง มีเพียงได้รับผลกระทบเล็กน้อย อาทิ น้ำท่วมขังบริเวณโรงงาน การคมนาคมไม่สะดวก เป็นต้น และในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานขนาดใหญ่จำนวนมาก ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน