กฏหมายใหม่ อย. 4 ฉบับ เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการอาหาร เรื่องนี้่ต้องรู้ไปดูกัน!!

เรื่องนี้ต้องรู้…!! อย. จัดการประชุมชี้แจงผู้ประกอบการอาหาร เพื่อเตรียมความพร้อมการปรับปรุงฉลากโภชนาการให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับใหม่ รวม 4 ฉบับ ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

Advertisement

น.พ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 445) พ.ศ. 2566 เรื่อง ฉลากโภชนาการ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 446) พ.ศ. 2566 เรื่อง อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม แบบจีดีเอ (ฉบับที่ 2) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 447) พ.ศ. 2566 เรื่อง การกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารบนฉลาก และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 448) พ.ศ. 2566 เรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ฉบับที่ 5)

น.พ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา

ซึ่งประกาศฯ ทั้ง 4 ฉบับ ลงราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป โดยผ่อนผันให้ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าอาหารที่มีการแสดงฉลากโภชนาการ หรืออาหารที่แสดงข้อความกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหาร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ ยังคงจำหน่ายต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกินวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2570

อย. จึงได้ประชุมชี้แจงผู้ประกอบการด้านอาหารและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการผลิต หรือนำเข้าอาหารได้เตรียมความพร้อมในการปรับปรุงสูตรและฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จัดทำฉลากโภชนาการ ฉลากแบบจีดีเอ รวมถึงการกล่าวอ้างทางสุขภาพ ให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ได้อย่างถูกต้อง และเปิดโอกาสให้มีการตอบข้อซักถาม เพื่อความชัดเจน และปฏิบัติได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งฉลากที่ปรับแก้ไขตามกฎหมายใหม่จะสามารถสื่อสารผู้บริโภคให้เข้าใจข้อมูลโภชนาการได้ง่ายขึ้น โดยศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://food.fda.moph.go.th/ หรือ QR code

เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การปรับปรุงฉลากโภชนาการแบบใหม่ จะช่วยให้เกิดความชัดเจนในการแสดงข้อความกล่าวอ้าง และแสดงฉลากโภชนาการ เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยบนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการที่เป็นปัจจุบัน สามารถคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ปรับปรุงข้อมูลในฉลากโภชนาการให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลคุณค่าทางด้านโภชนาการหรือปริมาณสารอาหารต่าง ๆ ที่ร่างกายจะได้รับ และสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารอย่างถูกต้องเหมาะสมกับการดูแลสุขภาพของตนเอง