324 เสียงไม่เพียงพอ”พิธา”ชวดเก้าอี้นายกฯโหวตรอบแรกรอลุ้นอีกครั้งรอบสอง !!

ผลโหวตสมาชิกสองสภายกมือให้ “พิธา” นั่งนายกฯ 324 เสียง ไม่เพียงพอ  รอลุ้นรอบต่อไป 19 ก.ค.นี้ พร้อมเปิดรายชื่อ 13 สว.หนุน ขณะที่บรรยากาศรอบสภาคึกคักคับแค้น 

Advertisement

ผลประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หลังจากที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เปิดโอกาสให้บรรดาสมาชิกทั้งส.ส.และส.ว.มีอภิปรายกรณีมีการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมา นายวันมูหะมัดนอร์ ในฐานะประธานสภา สั่งนับองค์ประชุม มีสมาชิกของทั้ง 2 สภาแสดงตน 676 คน จาก 749 คน ถือว่ามีสมาชิกครบองค์ประชุม เสียงเกินกว่าครึ่ง โดยเริ่มนับเสียงโหวตเมื่อเวลา 16.05 น. ดำเนินไปอย่่างต่อเนื่องไล่ตามตัวอักษรชื่อ ส.ส.และสว. จนถึงช่วงเวลา 17.30 น. มีรายงานว่าผลคะแนนดังกล่าว มีเพียงพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ที่โหวตไปในทิศทางเดียวกัน และได้เสียงสนับสนุนมาจาก สว. อีก 13 คน เช่น ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์, พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา, นายซากีย์  พิทักษ์คุมพล, นายพิศาล มาณวพัฒน์, นายพีระศักดิ์ พอจิต, นายมณเฑียร บุญตัน, นายวันชัย สอนศิริ, นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ เป็นต้น

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา และ ส.ว. ส่วนใหญ่ต่างพร้อมใจกันลงมติ ‘งดออกเสียง’ จนเมื่อผ่านเวลาไปเกือบ 2 ชั่วโมง จึงปิดการลงคะแนนในเวลา 17.55 น. ผลการลงมติปรากฏว่า นายพิธา ได้เสียงเห็นชอบ ไม่ถึง 375 เสียง ทำให้ไม่ผ่านการโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งแรกนี้ ซึ่งจะมีการเสนอชื่อ นายพิธา อีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จากนั้นประธานรัฐสภา สั่งปิดประชุมในเวลา 18.25 น.โดยผลโหวตที่เกิดขึ้นมีดังนี้– เห็นชอบ 324 เสียง– ไม่เห็นชอบ 182 เสียง– งดออกเสียง 199 เสียง– ไม่มาลงคะแนน 44 เสียง

ด้านนายพิธา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงมติว่า ยอมรับผลการลงมติที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่ามีการกดดัน ส.ว. และมี ส.ว. ไม่มาประชุมราว 40 คน ทำให้การลงคะแนนไม่ตรงตามที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณ ส.ว. ทั้ง 13 คนที่กล้าหาญและลงมติตามที่เคยสัญญากับประชาชน ยืนยันว่ายังไม่ยอมแพ้ จะใช้เวลาหลังจากนี้หายุทธศาสตร์เพื่อรวบรวมเสียง มุ่งหน้าสู่การลงมติครั้งที่ 2 ส่วนนโยบายแก้ไข ม.112 ที่ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวางในวันโหวตวันนี้ และหลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นสาเหตุที่เสียงสนับสนุนน้อยใช่หรือไม่ และจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายนี้หรือไม่อย่างไร? นายพิธากล่าวว่า ยืนยันว่ายังเหมือนเดิม เราได้สัญญากับประชาชนไว้อย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น วันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ได้มีโอกาสอธิบายชี้แจงเรื่องนี้ในสภาฯ ว่าสิ่งที่เราพยายามนำเสนอนั้น มีเป้าหมายเดียวกันกับวุฒิสภาหรือ ส.ส. หลายคน เพียงแต่อาจประเมินต่างกัน หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน ถ้ามีเวลาจะทำความเข้าใจเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ ต้องขอบคุณ ส.ว. ทั้ง 13 คนที่กล้าหาญและลงมติตามที่เคยสัญญากับประชาชน

ขณะที่บรรยากาศรอบๆ รัฐสภาที่กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลเดินทางมาชุมนุมให้กำลังใจ แม้จะเต็มไปด้วยความผิดหวังแต่ทุกคนก็พร้อมยอมรับและยืนยันที่จะกลับมาให้กำลังใจนายพิธา และพรรคก้าวไกล อีกครั้งในวันโหวตนายกฯ รอบ 2 วันที่ 19 ก.ค.นี้