ต่างชาติซื้อแผ่นดินไทยได้แล้วนะรู้ยัง… ได้ไม่เกินคนละ 1 ไร่ ครม.เคาะแล้ว อ้างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ที่ประชุมครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย โดยได้กำหนดให้กลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ประกอบด้วย กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง, กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ, กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ มีสิทธิขอได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ ระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยต้องนำเงินมาลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใดไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี

ทั้งนี้ ได้กำหนดเขตพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยของคนต่างด้าว 4 กลุ่มดังกล่าว ต้องอยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และต้องอยู่นอกเขตปลอดภัยในราชการทหาร ส่วนขั้นตอนการขอนั้น ให้ยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานตามแบบแนบท้ายกฎกระทรวงฯ เมื่อเห็นว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องให้ส่งไปยังอธิบดีกรมที่ดินเพื่อพิจารณาเสนอรัฐมนตรีต่อไป โดยต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเอง โดยไม่ขัดต่อศีลธรรม จารีตประเพณี หรือวิถีชีวิตอันดีของชุมชนในท้องถิ่นนั้น และผู้ได้รับอนุญาตจะต้องแจ้งการใช้ที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันเริ่มใช้ที่ดินนั้น และหากถอนการลงทุนในธุรกิจหรือกิจการก่อนครบกำหนดเวลาต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถอนการลงทุน และกรณีที่จำหน่ายที่ดินที่ได้มาซึ่งครบ 1 ไร่แล้วไปทั้งหมดหรือบางส่วน สิทธิที่จะได้มาซึ่งที่ดินตามกฎกระทรวงนี้เป็นอันระงับไป

สำหรับประเภทธุรกิจหรือกิจการในการลงทุนและเงื่อนไขมีดังนี้ คือ คนต่างด้าวต้องลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใดหรือหลายประเภทรวมกัน ได้แก่ 1. การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินหรือดอกเบี้ย 2. การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 3. การลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 4. การลงทุนในทุนเรือนหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และ5. การลงทุนในกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศให้เป็นกิจการที่สามารถขอรับ การส่งเสริมการลงทุนได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน