ดูออเจ้า…เล่าความจากหนัง “บุพเพสันนิวาส2” เรียนรู้เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับยุโรป ในยุคล่าอาณานิคม
หลังจากที่ GDH ได้ปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ไทยอิงประวัติศาสตร์เรื่องใหม่คือ “บุพเพสันนิวาส ๒” ออกมาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าเนื้อหาหลักก็ยังคงมุ่งเน้นไปที่ความเป็นหนังรักแบบข้ามภพข้ามชาติผสมกับความตลกเบาสมองโดยที่ใช้ยุคสมัยโบราณเป็นฉากดำเนินเรื่อง และเห็นได้ชัดแล้วว่าในหนังภาคนี้ก็ได้ใช้ยุคสมัยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง เพราะจากเนื้อหาและตัวละครในหน้าประวัติศาสตร์ที่มีการเปิดเผยออกมาแล้วนั้นมีทั้ง “พระสุนทรโวหาร” หรือ “สุนทรภู่” , บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ , มร. แดน บีช แบรดลีย์ หรือ “หมอปลัดเล” และโดยเฉพาะ “โรเบิร์ต ฮันเตอร์” หรือที่รู้จักในชื่อ “นายหันแตร” พ่อค้าชาวอังกฤษที่จะเข้ามาตั้งห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทย แต่แน่นอนว่าจากเนื้อหาในตัวอย่างเบื้องต้นนั้นก็ยังคงแฝงถึงมายาคติอย่างนึงในความรับรู้ของคนไทยก็คือ “แนวคิดการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก” นั่นเอง
เพราะบรรดาหนังหรือละครไทยที่มีแนวหาเกี่ยวโยงกับการเข้ามาของชาติตะวันตกที่ยังคงว่ายวนหรือวนหลูปกับแนวคิดที่ว่า การที่ชนชาติตะวันตกหรือพวกฝรั่งเข้ามาบ้านเรานั้นก็มาเพื่อเอาบ้านเราเป็นเมืองขึ้นหรือ “อาณานิคม” อย่างเจาะจงมาโดยตลอด อันส่งผลให้คนไทยบางส่วนในทุกวันนี้ยังคงหลอนกับแนวคิดนี้จนนำมาผูกเข้ากับการเมืองโลกในปัจจุบันไปด้วย ทั้งที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เพิ่งมีการค้นพบหลายชิ้นบ่งชี้ตรงกันว่าบรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตกไม่ได้มีเป้าหมายในการยึดครองประเทศไทยหรือสยามมาอย่างยาวนาน หรืออย่างน้อยก็ตั้งใจจะมายึดโดยตรงตั้งแต่แรกแต่อย่างใด
ดังที่ทุกท่านทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศไทยหรือที่เคยถูกเรียกว่าสยามอยู่ช่วงหนึ่งนั้นได้เผชิญกับการเข้ามาของชาติตะวันตกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว โดยสืบย้อนกลับไปถึงยุคของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เมื่อโปรตุเกส (Portugal) ซึ่งเป็นชาติยุโรปแรกที่ประสบความสำเร็จในการสร้างอาณานิคมในเอเชีย โดยนโยบายการเข้ามาของพวกโปรตุเกสในนั้นมิได้มาเพื่อล่าดินแดนเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิคม แต่มาเพื่อตั้งสถานีการค้าร่วมกับชนพื้นเมืองอย่างสันติเพื่อเป็นประโยชน์ในการทางการค้า อย่างการตั้งสถานีการค้าที่โคชิน (Co-Chin) และกัว (Goa) ในอินเดีย แต่กระนั้นก็ยังมีความพร้อมทางการทหารในกรณีที่เกิดความขัดแย้งกับชาวพื้นเมือง อย่างการบุกเข้ายึดเกาะมะละกา (Malacca) ในปี ค.ศ. 1511 นั้น มีเหตุมาจากการที่ราชสำนักมะละกาได้เข้าจับกุมนักเดินทางชาวโปรตุเกสเอาไว้ และกอปรกับเมื่อทางโปรตุเกสพยายามเจรจาแล้วก็ยังถูกต่อต้านอย่างรุนแรง จึงทำให้กองทัพโปรตุเกสที่มีกำลังพลเพียงหยิบมือเดียวตัดสินใจวัดดวงนำกำลังเข้ายึดเกาะมะละกาในทันที และเมื่อโปรตุเกสได้ตกเป็นส่วนหนึ่งของ “สหภาพไอบีเรียน” (Iberian Union) หรือการเป็นส่วนหนึ่งของ “จักรวรรดิสเปน” (Spanish Empire) (Philipe/Philip II of Spaian) ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้สเปนได้มีสิทธิ์อำนาจในการเข้าไปควบคุมอาณานิคมต่างๆของโปรตุเกสแล้วเท่านั้น แต่ยังทำให้สเปนได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในอยุธยาด้วยเช่นกัน ซึ่งบทบาทของพวกสเปนในอยุธยาช่วงแรกๆนั้นผมได้เคยเขียนถึงคร่าวๆไปแล้วในบทความเหล่านี้
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.2265689693686383&type=3
หากแต่ผลจากการสงครามระหว่างอยุธยากับหงสาวดีและละแวกในรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชา – สมเด็จนเรศฯนี้เองที่ทำให้พวกสเปนในฟิลิปินส์ไม่พอใจอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นการคุกคามความมั่นคงของสเปนในดินแดนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ เพราะทั้งหงสาวดีและเขมรต่างเป็นชาติพันธมิตรสำคัญของสหภาพไอบีเรียน จึงทำให้ข้าหลวงแห่งอาณานิคมสเปนในฟิลิปินส์มีความพยายามหาทางเรียกร้องให้ราชสำนักในแผ่นดินใหญ่ส่งกองทัพมาสนับสนุนเพื่อทำศึกยึดครองอยุธยา ดังจากกรณีที่ข้าหลวงสเปนแห่งมะนิลาได้ส่งสารไปถึพระเจ้าฟิลิปที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1597 / พ.ศ. 2140 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนเรศฯว่า “สยามสามารถพิชิต (และปกครอง) ได้ด้วยกำลังทหารเพียง 1,000 คนเท่านั้น”
หากแต่ว่า แผนการดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพราะผลจากความปราชัยของยุทธนาวีอาร์มาด้ากับอังกฤษในปี ค.ศ. 1588 ( พ.ศ. 2131 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนเรศฯ) นั้นได้ทำให้กองทัพสเปนสูญเสียเรือรบและกำลังพลไปเป็นจำนวนมาก และกอปรกับการลุกฮือและการเข้ามาของพวกดัตซ์ (Dutch) หรือพวก “ฮอลันดา” ที่ยิ่งทำให้รัฐบาลกลางของสเปนในแผ่นดินใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจกับข้อเรียกร้องของข้าหลวงแห่งฟิลิปินส์แต่อย่างใด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีชาติยุโรปที่คิดรุกรานอยุธยาจริงๆก็คือสเปน แต่ก็ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลกลางของสเปน แต่เป็นเพียงฝ่ายอาณานิคมในฟิลิปินส์เท่านั้น
หลังจากยุคการเรืองอำนาจของสเปนได้ผ่านพ้นไป ชาติมหาอำนาจใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในอยุธยาก็คือ “ราชอาณาจักรฝรั่งเศส” (Kingdom of France) อันเป็นผลมาจากนโยบายต่างประเทศของ “เจ้าพระยาวิชาเยนทร์” หรือ “คอนสแตนติน ฟอลค่อน” (Constantine Phaulkon) นักเดินทางชาวกรีกที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นขุนนางคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์ฯ แต่ด้วยการที่ฟอลค่อนมีนโยบายสนับสนุนการเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกอย่างเต็มที่ แต่กลับบีฑาชาวพุทธอย่างรุนแรง จากกรณีสึกพระมาสร้างป้อมบางกอกนั้นเองที่ทำให้เหล่าขุนนางอยุธยาเริ่มไม่ไว้วางใจขุนนางยุโรปผู้นี้และมองว่าฟอลค่อนอาจจะต้องการยึดอำนาจปกครองแผ่นดินอยุธยาด้วยการยืมมือฝรั่งเศส ซึ่งประเด็นนี้ก็ได้มีการนำเสนอให้เป็นประเด็นหลักในละครบุพเพสันนิวาสภาคแรกมาแล้ว และหลักฐานที่อาจจะแสดงถึงความทะเยอทะยานของฟอลค่อนก็ปรากฎจากทัศนคติของคณะฑูตฝรั่งเศสที่เดินทางมากรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏจากหนังสือ “Mémoires pour servir à l’histoire de Louis XIV” ของบาทหลวงเดอ ซัวซีส์ว่า
“เขาเป็นคนที่มีไหวพริบ สง่างาม กล้าหาญ และมีแนวคิดดีๆ มากมาย แต่เป็นไปได้ว่า เขาอาจจะแค่ต้องการนำทหารฝรั่งเศสเข้ามา เพื่อปราบดาภิเษกตนเองเป็นกษัตริย์หลังจากที่เจ้านายของเขาสิ้นชีพ เพราะเขาเห็นว่ามันจะเกิดขึ้นในไม่ช้า เขาเป็นคนหยิ่งผยอง โหดเหี้ยม ไร้ปรานี และมีความทะเยอทะยานเกินควร เขาสนับสนุนศาสนาคริสต์เพราะมันเป็นประโยชน์กับตัวเขาเอง แต่ฉันจะไม่มีวันเชื่อใจเขาในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของเขาเด็ดขาด”
แม้ว่าจะเป็นการคาดคะเนจากฝ่ายฝรั่งเศสก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดที่ระบุว่าฝ่ายราชสำนักฝรั่งเศสที่แวร์ซายส์มีความต้องการจะยึดครองสยามหรืออยุธยาจริงๆ เพราะนอกจากท่าทีที่ราชสำนักฝรั่งเศสทมีต่ออยุธยานั้นก็มิได้มีอะไรมากกว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองในฐานะมิตรประเทศที่มีเกียรติเสมอกันแล้ว แต่นโยบายการต่างประเทศของฝรั่งเศสในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV) นั้นให้ความสนใจในภาคพื้นทวีปยุโรปมากกว่า เพราะผลจาก “สงครามสามสิบปี” (Thirty Years War) อันเป็นสงครามระหว่างชาติโปรแตสแตนท์และคาทอลิกในยุโรป โดยฝ่ายฝรั่งเศสได้ฉวยโอกาสนี้สลายอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (House of Habsburg) ที่ปกครองแผ่นดินเยอรมันและสเปนที่เป็นชาติคาทอลิกเหมือนกันให้จงได้ ซึ่งผลจากความขัดแย้งระหว่างราชสำนักฝรั่งเศสและสเปนนี้ยังได้ลุกลามไปจนเกิด “สงครามชิงราชบัลลังก์สเปน” (War of the Spanish Succession) ในกาลต่อมาหรือพูดง่ายๆก็คือ ฝรั่งเศสมีสงครามที่ต้องรบอยู่ในยุโรปอยู่แล้ว ย่อมไม่มาสนใจจะยึดครองประเทศเล็กๆที่ตนแทบไม่รู้จักอย่างสยามแม้แต่น้อย และกว่าที่ฝรั่งเศสจะเริ่มมีนโยบายสร้างอาณานิคมในเอเชียจริงๆจังๆก็ยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (Louis XV) และดินแดนที่ฝรั่งเศสสนใจจริงๆก็คืออินเดีย และด้วยความพยายามของฝรั่งเศสนี้ก็จะกลายมาเป็นชนวนเหตุให้เกิดสงครามกับฝ่ายอังกฤษที่จะลุกลามบานปลายไปถึงสามทวีปคืออเมริกา , อินเดีย และยุโรปอย่าง “สงครามเจ็ดปี” (Seven years war) นั่นล่ะครับ
จนกระทั่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์อันเป็นยุคที่การล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกเข้าถึงจุดสูงสุดก็ตาม แต่ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างมิได้ต้องการประเทศสยามเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิคมมาตั้งแต่ต้น เพราะทั้งสองชาติต่างมีเป้าหมายสำคัญในการเปิดตลาดการค้ากับจักรวรรดิจีนมากกว่า แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าผลจากการต่อต้านของบรรดารัฐมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างฝ่ายพม่าและเวียดนามนั้นเองที่ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสทำการตอบโต้อย่างรุนแรงจนถึงขั้นยึดแผ่นดินได้ในที่สุดก็ตาม แต่กับท่าทีของสองชาติมหาอำนาจที่มีต่อสยามนั้นกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะหลังจากที่สยามได้เห็นบทเรียนจากทั้งสองประเทศแล้ว จึงทำให้ราชสำนักสยามมีท่าทีโอนอ่อนต่อข้อเรียกร้องของทั้งสองชาติมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยก็จากกรณีการลงนาม “สนธิสัญญาเบอร์นี” (Burney Treaty) ในปี พ.ศ. 2369 และโดยเฉพาะ “สนธิสัญญาเบาว์ริง” (Bowring Treaty) กับฝ่ายอังกฤษในปี พ.ศ. 2398 – 2399 ที่หลายๆคนเข้าใจว่าฝ่ายอังกฤษต้องการเอาเปรียบและขูดรีดสยามนั้น แต่เนื้อแท้แล้วอังกฤษต้องการที่จะทำการค้าเสรี (Free trade) กับสยามโดยที่ไม่ต้องผ่านพระคลังสินค้าอย่างที่เคยปฏิบัติมาต่างหาก เพราะว่าโลกตะวันตกในเวลานั้นได้เข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) พร้อมกับการเติบโตของแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนและหลักเศรษฐศาสตร์ใหม่ๆ จึงทำให้อังกฤษและบรรดาชาติตะวันตกต่างๆล้วนต้องการค้าขายกับสยามและรัฐพื้นเมืองต่างๆในฐานะประเทศที่มีเกียรติอันเท่าเทียมกัน มิใช่ในฐานะรัฐบาลต่อรัฐบาล (หรือราชสำนัก) อย่างที่เคยเป็นมาอีกแล้วนั่นเอง
หากแต่แล้วก็เกิดเหตุพลิกผันครั้งสำคัญในทวีปยุโรปเมื่อ “จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2” (the Second French Empire) ที่ได้ชื่อว่าเป็นชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปกลับล่มสลายลงจากการรุกรานของ “สมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ” (North German Confederation) หรือที่ต่อมาจะกลายมาเป็น “จักรวรรดิเยอรมัน” (German Empire) ในปี ค.ศ. 1871 / 2414 นั้นได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภาคพื้นทวีปยุโรปอันจะส่งผลต่อความมั่นคงของชาติสยามด้วยเช่นกัน เพราะหลังจากที่ชาติฝรั่งเศสได้ฟื้นตัวกลับคืนมาอีกครั้งในฐานะสาธารณรัฐ รัฐบาลฝรั่งเศสมีความพยายามที่จะหาทางสกัดกั้นอำนาจของจักรวรรดิเยอรมัน จนกระทั่งเมื่อจักรวรรดิเยอรมันหันไปให้การสนับสนุนจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการี (Austria – Hungary Empire) ที่กำลังมีปัญหาเรื่องคาบสมุทรบอลข่าน (Balkan peninsula) กับ “จักรวรรดิรัสเซีย” (Russia Empire) และฝ่ายเยอรมันก็ยังไปละเมิดต่อข้อตกลงเรื่องการขยายกองเรือตาม “มาตราการทวิอำนาจ” (Two power standard) ที่ถือเป็นข้อตกลงระหว่างจักรวรรดิอังกฤษกับบรรดาชาติในยุโรปว่าทุกประเทศห้ามขยายกองเรือ โดยที่อังกฤษก็จะไม่ขอเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความวุ่นวายใดๆในยุโรปด้วยเช่นกัน โดยใจความสำคัญของมาตราการนี้คือการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของจักรวรรดิอังกฤษในแดนโพ้นทะเลต่างๆนั่นเอง แต่จักรวรรดิเยอรมันกลับไม่สนใจในข้อตกลงกับฝ่ายอังกฤษและมีความพยายามในการขยายกองเรือครั้งมโหฬาร อันส่งผลให้สาธารณรัฐฝรั่งเศสและจักรวรรดิอังกฤษที่ต่างเป็นคู่แข่งในการสร้างอาณานิคมโพ้นทะเลมาช้านาน จำต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อสกัดการขยายอำนาจของเยอรมัน โดยบรรดาข้อตกลงเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างทั้งสองชาติก็คือความร่วมมือกันในการแบ่งปันอำนาจในเอเชียให้ลงตัวนั้นก็คือการร่วมมือกันยอมรับอำนาจหรืออธิปไตยของรัฐสยามเพื่อใช้เป็น “รัฐกันชน” (Buffer state)คือเป็นดินแดนหรือรัฐที่เป็นกลางอยู่ระหว่างอาณานิคมของทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสในแดนตะวันออกไกลนี้ และกอปรกับวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและเท่าทันโลกตะวันตกของรัฐบาลสยามภายในการนำของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือที่ชาวตะวันตกเรียกว่า “คิงจุฬาลงกรณ์” (King Chulalongkorn) ด้วยแล้ว อันปรากฏมาจากการรับเสด็จซาเรวิชนิโคลัส (ต่อมาคือจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 จักรพรรดิแห่งรัสเซีย – Tsar Nicolas II of Russia Empire) ในปี ค.ศ. 1891 / พ.ศ. 2434 ที่เป็นการเปิดฉากภาพลักษณ์ใหม่ของสยามในฐานะอารยประเทศที่มีเกียรติยศต่อเวทีโลกอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม การที่เราจะบอกว่าทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสไม่ได้อยากครอบครองดินแดนของเราเลยนั้นก็คงจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียวนัก เพราะในช่วงศตวรรษที่ 19 นั้นเป็นยุคที่ชาติมหาอำนาจต่างๆพยายามครอบครองดินแดนโพ้นทะเลให้ได้มากที่สุด เหมือนกับเป็นการแข่งขันเพื่อแสดงถึงเกียรติยศและแสนยานุภาพทางการทหารของชาตินั้นๆ ซึ่งจักรวรรดิอังกฤษถือว่าเป็นชาติที่ปกครองดินแดนที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานั้นอย่างแท้จริง โดยมีอาณานิคมที่อินเดียถือว่าเป็นเพชรยอดมงกุฎแห่งจักรวรรดิ เพราะด้วยความรุ่มรวยด้านทรัพยากรธรรมชาติ , กำลังคน และเหนืออื่นใดคือประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปี ส่วนฝ่ายฝรั่งเศสที่ได้ชื่อว่าเป็นคู่แข่งตลอดกาลของอังกฤษก็พยายามที่จะสร้างอาณานิคมในภูมิภาคอุษาคเนย์หรืออินโดจีนเพื่อข้ามหน้าฝ่ายอังกฤษในการเข้าสู่จีนให้จงได้ แต่ว่ารัฐบาลชาติทั้งสองก็ไม่ได้มีนโยบายที่จะเข้าครอบครองประเทศสยามให้จงได้มาตั้งแต่ต้น หากแต่เปลี่ยนแปลงไปตามแต่สถานการณ์จะอำนวยให้เท่านั้นครับ
ผมขอตัวอย่างกรณีความขัดแย้งและการสละดินแดนครั้งต่างๆ อย่างเหตุการณ์ “วิกฤตการณ์วังหน้า” ในปี พ.ศ. 2417 – 2418 นั้น ฝ่ายทูตอังกฤษเห็นว่าอาจจะเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯกับเหล่าขุนนางอาวุโสและสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯวิไชยชาญ จึงได้รีบเสนอให้มีการแบ่งแผ่นดินสยามออกเป็นสามส่วน แต่ในเมื่อราชสำนักสยามสามารถไกล่เกลี่ยปัญหาภายในลงได้โดยสงบและรวดเร็วแล้ว ฝ่ายอังกฤษก็ถอยฉากไปโดยที่มิได้รบเร้าอะไรมากไปกว่านั้น และกรณีวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ในปี ค.ศ. 1893 / พ.ศ. 2436 ที่ทำให้ไทยต้องยอมสละดินแดนลาวและเขมรทั้งหมดให้กับฝรั่งเศสนั้น ล้วนแต่มีเงื่อนไขหรือปัจจัยที่เกิดความผิดพลาดในทางการทูตของสยามและรูปแบบการเมืองของรัฐจารีตโบราณ เพราะนอกจากจะเป็นผลมาจากการปราบกบฎฮ่อในแดนลาวที่ส่งผลกระทบต่อพรมแดนระหว่างดินแดนลาวในบังคับของไทยกับอาณานิคมฝรั่งเศสในเวียดนาม อันแสดงถึงความแตกต่างในความเข้าใจเรื่องเส้นแบ่งพรมแดนประเทศของรัฐสยามแล้ว แต่เหนืออื่นใดคือฝ่ายราชสำนักลาวหลวงพระบางและเขมรที่พนมเปญเองก็อยากจะเป็นอิสระจากฝ่ายสยาม หรือพูดง่ายๆคือลาวและเขมรก็อยากจะแปรพักตร์ด้วยนั่นเอง เพราะด้วยความเข้าใจตามแบบเจ้าผู้่ปกครองรัฐจารีตที่จะต้องโอนอ่อนเข้าหาเจ้าอธิราชที่เข้มแข็งกว่า จึงทำให้ฝรั่งเศสสบโอกาสใช้ความเชื่อทางการเมืองในลักษณะนี้เข้าแทรกแซงจนสามารถแบ่งแยกดินแดนเหล่านั้นมาเป็นของตนในท้ายที่สุด หรือในกรณีการแบ่งปันดินแดนหัวเมืองมลายูให้กับอังกฤษในปี ค.ศ. 1909 / พ.ศ. 2452 ก็มีสาเหตุมาจากการที่ราชสำนักสยามต้องการกู้ยืมเงินจากอังกฤษเพื่อมาสร้างทางรถไฟ และกอปรกับการที่สยามเคยทำอนุสัญญาลับกับฝ่ายอังกฤษเพื่อต่อต้านการรุกรานของฝ่ายฝรั่งเศสในอนาคต โดยมีการร่างสัญญาแรกว่า “ห้ามมิให้สยามยกดินแดนตั้งแต่บางสะพานลงไปให้กับชาติอื่นใด ยกเว้นได้รับความเห็นชอบจากอังกฤษ” แต่ในท้ายที่สุดแล้วฝ่ายไทยก็ทำการเจรจาจนยอมสละดินแดนหัวเมืองมลายูเหนือให้กับอังกฤษไปในที่สุดนั่นล่ะครับ
สรุปก็คือ รัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสไม่ได้มีนโยบายหรือคิดจะเข้าครอบครองสยามโดยตรง ยกเว้นแต่จะมีโอกาสอำนวยให้ หรือพูดง่ายๆแบบภาษาปากว่า
“ถ้าได้ก็เอา ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร”
เพราะถ้าอังกฤษกับฝรั่งเศสตั้งใจจะครอบครองดินแดนสยามให้ได้ตั้งแต่แรก พวกก็คงจะยกทัพมาโจมตีเราแบบเต็มอัตราศึกไปนานแล้วล่ะครับ
เพราะฉะนั้น ไอ้แนวคิดว่าฝรั่งตั้งใจจะยึดครองแผ่นดินสยามที่ยังคงอยู่ในสื่อบันเทิงกระแสหลักทุกวันนี้ จึงมิใช่การนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องตามบริบททางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด และผมก็ได้แต่หวังว่าสื่อบันเทิงควรจะเป็นทางเลือกใหม่ในด้านการศึกษาที่จะนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆและเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนมากยิ่งๆขึ้นไปนะครับ – เอวัง
เรื่องโดย..ภาสพันธ์ ปานสีดา