“วันเถลิงศก” ๑๖ เมษายน ๒๕๖๓ จุลศักราช ๑๓๘๒ ล้วงเข้ามาสู่ปีใหม่อย่างเป็นทางการอย่างชาวไทย วันนี้มากันแบบไทยๆ ขออนุญาตใช้เลขไทยเลยนะขอรับ
รัฐโบราณต่างๆ ในดินแดนประเทศไทย เช่น สุโขทัย อยุธยา ล้านนา เดิมระบุปีด้วยมหาศักราช ภายหลังเปลี่ยนมาใช้จุลศักราช สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากพม่าและใช้สืบเนื่องเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๒ สมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนไปใช้ “รัตนโกสินศก” แทน แต่ในช่วงนั้นบางท้องถิ่นก็ยังนิยมใช้จุลศักราชดังเดิม ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๕ สมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ “พุทธศักราช” เป็นศักราชทางการแทนรัตนโกสินทร์ศก อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการระบุปีด้วยจุลศักราชยังใช้ในทางโหราศาสตร์ เช่น การประกาศสงกรานต์ เป็นต้น แต่ในทางราชการไม่ปรากฏการใช้ศักราชนี้แล้ว การคำนวณเทียบจุลศักราชให้เป็นพุทธศักราช ให้บวกเลขจุลศักราชด้วย ๑๑๘๑ เพราะจุลศักราชตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๘๒
ยกตัวอย่างเช่น จุลศักราช ๑๓๘๒ ตรงกับพุทธศักราช ๒๕๖๓ (๑๓๘๒ + ๑๑๘๑ = ๒๕๖๓) และจุลศักราชจะเปลี่ยนในวันเถลิงศกของทุกปี ตามประกาศสงกรานต์ในปฏิทินหลวง พุทธศักราช ๒๕๖๓ ในปีนี้จะขึ้นจุลศักราชใหม่ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๐๑.๒๔.๓๖ นาฬิกา
ตรงกับจุลศักราช ๑๓๘๒ ปีชวดโทศก ส่วนที่มาของ
จุลศักราชมีข้อสันนิษฐาน ดังนี้
๑. จุลศักราชมีต้นกำเนิดจากจีน ตามแนวคิดของนักวิชาการ เช่น ฟอร์เบส์ (Forbes) การ์นิเออร์ (Garnier) เชื่อว่าจุลศักราชศักราชเกิดขึ้นในจีนก่อนที่พม่าจะรับศักราชนี้ไปใช้ โดยสันนิษฐานจากการที่พม่าได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปกรรมจากจีน แต่ไม่ได้อธิบายรายละเอียดอื่นๆ
๒. จุลศักราชมีต้นกำเนิดในไทย ในเอกสาร พงศาวดารเหนือ ระบุว่า “…พระยาสักรดำมหาราชาธิราช ทรงอานุภาพมหิทธิฤทธิ์อันล้ำเลิศกว่ากษัตริย์ทั้งหลาย … จึงมีพระราชโองการสั่งแก่อดีตพราหมณ์ปุโรหิตว่า ตั้งแต่นี้ไปจนสิ้นพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าอนุญาตไว้ ๕,๐๐๐ พรรษา ให้ตั้งจุลศักราชไว้สำหรับกรุงกษัตริย์สืบไปเมื่อหน้า จึงให้ตั้ง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรมค่ำหนึ่ง จุลศักราช ปีชวดเอกศก…” ต่อมาพระองค์เสด็จสวรรคตในปีนั้น พระราชโอรสจึงขึ้นครองราชย์ต่อ ตรงกับจุลศักราชที่ ๑
๓. จุลศักราชมีต้นกำเนิดจากพม่า โดยมี ๓ แนวคิดคือ
๓.๑ จุลศักราชตั้งขึ้นสมัยพระเจ้าเสนคราชา จากเอกสารมหาราชวงษ์ (Maha Yazawingyi) พงศาวดารพม่าฉบับอูกะลา ที่ชำระเรียบเรียงแล้วเสร็จ พ.ศ. ๒๒๖๗ ระบุว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๑๘๑ พระภิกษุโปปปะโสระหัน (บุปผอรหันต์) ได้ลาสิกขาบทออกมาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์พุกามลำดับที่ ๑๙ มีพระนามว่า พระเจ้าเสนคราชา (สิงกราชา)
ทรงยกเลิกมหาศักราชและตั้งศักราชใหม่ ปัจจุบัน ชาวพม่าเรียกว่า “เมียนมาศักราช”
๓.๒ จุลศักราชตั้งขึ้นสมัยพระเจ้าอโนรธาแห่งพุกาม เอกสารฝ่ายล้านนา เช่น พื้นเมืองเชียงใหม่ พื้นเมืองน่าน ตำนานสิบห้าราชวงศ์ และตำนานเมืองเชียงแสน เป็นต้น ระบุไปในทำนองเดียวกันว่า มหาศักราช ๕๖๐ (พ.ศ. ๑๑๘๑) ในสมัยพระยาตรีจักขุอนิรุทธมหาราช (พระเจ้าอโนรธา) ทรงเรียกชุมนุมกษัตริย์จากประเทศราชต่าง ๆ เพื่อทำการตั้งศักราชใหม่ เวลานั้นล้านนายังว่างกษัตริย์ จึงทรงขอกษัตริย์จากพระอินทร์ พระอินทร์มีบัญชาให้ลวจังกรเทวบุตรลงมาเกิดแบบโอปปาติกะ (เกิดขึ้นเองและเติบโตในทันใด) แล้วครองราชย์ปกครองดินแดนล้านนาในปีที่ตั้งศักราชใหม่นั้น จากตำนานทั้งจากฝ่ายพม่า และล้านนา ทำให้เข้าใจได้ว่าศักราชใหม่ดังกล่าวเกิดในสมัยพุกาม แต่เมื่อพิจาณาจากปีที่ตั้งศักราชแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะอาณาจักรพุกามสถาปนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ซึ่งห่างจากเวลาดังกล่าว ๒๐๐ กว่าปี
๓.๓ จุลศักราชตั้งขึ้นสมัยพระเจ้าสุริยวิกรม จากหลักฐานประเภทจารึก ๔ หลักค้นพบที่โกศโบราณ กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ สมัย วัฒนธรรมพยู (กลุ่มชนที่เคยปกครองดินแดนพม่าโบราณ) มีจารึก ๒ หลักที่น่าสนใจ หลักหนึ่งระบุว่า ศก ๓๕ (พ.ศ. ๑๒๑๖) พระญาติพระเจ้าสุริยวิกรมสิ้นพระชนม์ อีกหลักระบุว่า ศก ๕๐ (พ.ศ. ๑๒๓๑) พระเจ้าสุริยวิกรมเสด็จสวรรคต พระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา วินัย พงษ์ศรีเพียร เสนอว่า ศก ๑ (พ.ศ. ๑๑๘๒) พระชนมายุของพระองค์ย่างเข้า ๑๖ พรรษา เป็นช่วงอายุที่น่าจะจบกลาศาสตร์ (ศิลปศาสตร์ ๖๔ ประการ) น่าจะเป็นปีที่พระองค์ครองราชย์สมบัติและสถาปนาปี “รัชศก” (ปีตั้งแต่ขึ้นครองราชย์จนถึงสวรรคต) อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าศักราชดังกล่าวตั้งสมัยของพระเจ้าสุริยวิกรม แต่อย่างน้อยอาจสันนิษฐานได้ว่าจุลศักราชน่าจะตั้งขึ้นในสมัยวัฒนธรรมพยู และมีการใช้สืบเนื่องในสมัยพุกาม และส่งอิทธิพลแพร่หลายแก่รัฐโบราณของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนภาคพื้นทวีปในสมัยหลังในนาม “จุลศักราช”
………………………….
เรียบเรียงโดย
นายชัยสิทธิ์ ปะนันวงค์
นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มประวัติศาสตร์
……………………….
เอกสารอ้างอิง
นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา และ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จเล่ม ๙. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๑๕.
.
ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษกเล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒. (คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหา
มงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี).
.
ยุทธพร นาคสุข. “การศึกษาเชิงวิเคราะห์คัมภีร์สุริยยาตรฉบับภาคกลาง ฉบับล้านนา และฉบับไทลื้อ.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๘.
.
วินัย พงศ์ศรีเพียร. วันวาร กาลเวลา แลนานาศักราช. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์, ๒๕๕๒.