กรมชลประทานเร่งสำรวจ EIA เขื่อนพระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 13 อำเภอ บรรเทาน้ำท่วม-แล้งซ้ำซาก ชี้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำ แก้น้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก ป้องกันแหล่งที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม และมรดกโลก
นายอรรถพร ปัญญาโฉม รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ทำการสำรวจพื้นที่ดำเนินโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเขื่อนพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยโครงการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 13 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วยพื้นที่ อ.บางไทร อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.บางปะอิน อ.ผักไห่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.มหาราช และ อ.เสนา ส่วนในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ประกอบด้วย อ.ไชโย อ.ป่าโมก อ.โพธิ์ทอง อ. เมือง และ อ.วิเศษชัยชาญ โดยมีพื้นที่หัวงานโครงการตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่หัวงาน 76.93 ไร่ ระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม./วินาที จากปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยในพื้นที่ดังกล่าว 10,970 ล้าน ลบ.ม./ปี
ทั้งนี้จุดประสงค์ของโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซาก ในจ.พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ชุมชน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ เพิ่มการใช้ประโยชน์ให้แก่พื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูแล้งและเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภค–บริโภคของประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้การจัดทำเขื่อนพระนครศรีอยุธยาจะทำให้สามารถป้องกันกลุ่มโบราณสถานสำคัญในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม อาทิเช่น วัดไชยวัฒนาราม วัดกษัตราธิราชวรวิหาร และกลุ่มโบราณสถานนอกเกาะเมือง ซึ่งอยู่บริเวณตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากอุทกภัยซ้ำซากหรือปริมาณน้ำฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากลำน้ำมีลักษณะคดเคี้ยว แคบและเป็นคอขวด ตลอดจนริมสองฝั่งแม่น้ำเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ
ด้านนายวรวิทย์ บุณยเนตร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล กล่าวว่า นอกเหนือจากโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยา กรมชลประทานยังได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อาทิ เช่น โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงโครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยา
อย่างไรก็ตาม SBN พบว่า โครงการเขื่อนพระนครศรีอยุธยา มูลค่าโครงการประมาณ 2,300 ล้านบาท เคยเกิดเหตุการณ์ประท้วงการก่อสร้างจากประชาชนในพื้นที่ ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา มาแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนที่กรมชลประทาน จะทำการปรับรูปแบบโครงการใหม่ เพื่อให้มีผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนน้อยที่สุด จากเดิมที่เคยกระทบพื้นที่อยู่อาศัยประมาณ 158 หลังคาเรือน ลดลงเหลือประมาณ 31 หลังคาเรือน รวมทั้งการปรับขยายช่องเดินเรือ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยโครงการนี้คาดว่าจะสามารถผ่านขั้นตอนการรายงานผลกระทบ EIA ไปได้ แต่ก็ยังมีขั้นตอนที่จะต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช) รวมถึงครม.ก่อนจะมีการอนุมัติ คาดว่าจะใช้ระยะเวลารวมการก่อสร้างประมาณ 5-7 ปีเลยทีเดียว