แรงงานไทยหนี้บาน!ร้องรบ.ใหม่ดูแล ผลสำรวจสดๆ ร้อนๆ รับวันMAYDAY

สถานภาพแรงงานไทย ยุค 4.0 รับวันแรงงาน 1 พ.ค.62 ม.หอการค้าฯ เผยผลสำรวจ หนี้สินเพื่อการนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันพุ่ง 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนสะท้อนภาพภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัว

Advertisement

ในการแถลงข่าว  เรื่อง “สถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยจากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 ตัวอย่างทั่วประเทศ กรณีศึกษาจากผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท โดยจากข้อมูล แรงงานไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ยังมีหนี้สินเพื่อการนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 158,855 บาทต่อครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ยังมีสัดส่วนการกู้เงินในระบบสูงกว่า โดยเป็นหนี้ในระบบร้อยละ 58.2 และนอกระบบร้อยละ 41.8 ซึ่งต้องผ่อนชำระประมาณเดือนละ 7,200 บาท และร้อยละ 80.3 เคยผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากรายได้ไม่พอจ่าย ขาดสภาพคล่อง และค่าครองชีพสูง

ขณะที่เม็ดเงินสะพัดในช่วงวันแรงงานไทยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2,232 ล้านบาท ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งความต้องการของ แรงงานไทย จากผลสำรวจ ระบุว่าส่วนใหญ่ต้องการให้เพิ่มค่าจ้างแรงงานเท่ากับค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันแรงงานในส่วนที่ทำการสำรวจไม่คาดหวังถึงโอกาสเปลี่ยนงานใหม่ เนื่องจากเห็นว่า โอกาสในการได้งานใหม่มีน้อย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัว โดยส่วนหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาดูแลเรื่องของค่าแรงที่เป็นธรรมและสวัสดิการในด้านต่างๆ ด้วย