“อาจินต์ ปัญจพรรค์” เจ้าของผลงานอมตะ “มหา‘ลัยเหมืองแร่” จากไปอย่างสงบ วันนี้เวลา 17.44น. อายุ 92 ปี โดยมีพีธีรดน้ำ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 ณ วัดตรีทศเทพ ศาลา 9 เวลา 16.00น.บุคคลทั่วไป แฟนหนังสือ สามารถร่วมพิธีได้ (แต่งกายสุภาพ)
“อาจินต์ ปัญจพรรค์” เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2470 ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรชายของขุนปัญจพรรค์พิบูล(พิบูล ปัญจพรรค์) อดีตนายอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และข้าหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และข้าหลวงจังหวัดนครปฐม กับนางกระแส ปัญจพรรค์ (โกมารทัต) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา คือ ชอุ่ม ปัญจพรรค์ พล.ต.ท.ลัดดา ปัญจพรรค์ และวัฒนา ปัญจพรรค์ มีน้องสาวต่างมารดาคือ เยาวรัตน์ ปัญจพรรค์
การศึกษาเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม เรึยนชั้นมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขณะที่กำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มหาวิทยาลัยงดการเรียนการสอน นิสิตต่างพากันกลับบ้านเกิดหนีการทิ้งระเบิดเพื่อทำลายจุดยุทธศาสตร์สำคัญในกรุงเทพมหานคร เมื่อภาวะสงครามสงบอาจินต์กลับมาเรียนอีกครั้ง แต่การใช้ชีวิตในช่วงหนีภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้อาจินต์กลับมาเรียนต่อได้ไม่ดี ทำให้ถูกรีไทร์ บิดาจึงส่งไปทำงานหนักในเหมืองแร่เพื่อดัดนิสัยที่จังหวัดพังงา อาจินต์ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวมาเขียนในเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่
พ.ศ. 2512 ร่วมหุ้นตั้งโรงพิมพ์อักษรไทย และทำนิตยสาร “ฟ้าเมืองไทย” รายสัปดาห์ ออกฉบับปฐมฤกษ์ วันจักรี 6 เมษายน พ.ศ. 2512 ในราคาเล่มละ 3 บาท เป็นที่นิยมมาก จึงได้คิดหนังสือเล่มใหม่ โดย สุพล เตชะธาดา แห่งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เป็นผู้ลงทุน “ฟ้าเมืองทอง” รายเดือน ฉบับปฐมฤกษ์ เมษายน พ.ศ. 2519 ประสบผลสำเร็จ จึงออก “ฟ้านารี” รายเดือนให้สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นอีกหนึ่งฉบับ มีศรีเฉลิม สุขประยูร เป็นบรรณาธิการ พิมพ์ได้ไม่นานก็เลิก ภายหลังทำ “ฟ้าอาชีพ” รายเดือนอีกระยะหนึ่ง ก็หยุดทำ “ฟ้าเมืองทอง” ส่วน “ฟ้าเมืองไทย” มาสิ้นสุดตอน ตุลาคม พ.ศ. 2531 ผู้อ่านแสดงความรู้สึงเสียดาย จึงตัดสินใจทำนิตยสาร “ฟ้า” รายเดือน ฉบับปฐมฤกษ์ มกราคม พ.ศ. 2532 ผลิตและจำหน่าย 3 ปีก็ยุติลง ตุลาคม พ.ศ. 2543 ตลอดเวลาได้สร้างนักเขียนรุ่นใหม่ให้โด่งดังเป็นจำนวนมาก
ผลงานโดดเด่นคือการได้เป็นบรรณาธิการ นิตยสารฟ้าเมืองไทย รายสัปดาห์ ได้รับความนิยมอย่างสูง เมื่อ พ.ศ. 2512-2531 รางวัลที่ได้รับล้วนเป็นรางวัลจากการเขียนวรรณกรรม คือ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี 2534 และ รางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2535 สำนักข่าว SBN ขอร่วมไว้อาลัย และแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” มา ณ ที่นี้ด้วย