กสอ. ดันเศรษฐกิจชุมชนโกอินเตอร์ ชูสินค้า OnTop

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) พลิกโฉมเศรษฐกิจชุมชนฐานราก (Local Economy) สู่เศรษฐกิจสากล (Global Economy) ยกระดับธุรกิจชุมชนให้เป็นธุรกิจออนทอป (OnTop) ขยายช่องทางธุรกิจให้มีความหลากหลาย สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด เป็นที่รู้จักและเป็นการเพิ่มตัวเลือกให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตอกย้ำการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความแข็งแกร่ง รู้จักนำภูมิปัญญามาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น สนองรับนโยบายรัฐบาล ในการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยง การท่องเที่ยว วางเป้า 160 ชุมชน ปั้นเอสเอ็มอีเกษตรตามแนวประชารัฐทั่วประเทศ 600 กลุ่ม สอดคล้องกับ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

Advertisement

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือเอสเอ็มอีปี 2561 ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีแผนดำเนินการยกระดับ โดยมุ่งหวังกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่ง 1 ใน 9 มาตรการดังกล่าว คือ การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน (Local Economy) ผ่านโครงการสร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ เศรษฐกิจฐานราก โครงการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยว (CIV 4.0 : Creative Industry Village) 160 ชุมชน โดยเน้นพัฒนาศักยภาพชุมชน ค้นหาอัตลักษณ์ชุมชน ทำแผนการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างยั่งยืน พัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการด้วยการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ และเชื่อมโยงการท่องเที่ยว เชื่อมโยงตลาดออนไลน์ด้วย Digital Platform ซึ่งจะดำเนินการทุกจังหวัดทั่วประเทศ และมีเป้าหมายที่จะยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนมีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 25

“กสอ. มีเป้าหมายในการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่โลก (From Local to Global) ด้วยการยกระดับธุรกิจชุมชนให้เป็นธุรกิจออนทอป (OnTop) ขยายช่องทางธุรกิจให้มีความหลากหลายเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด พร้อมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนให้เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว (CIV 4.0) มีเป้าหมายการพัฒนาทั้งหมดจำนวน 160 ชุมชน ทั่วประเทศ โดยใช้หลักการพัฒนา 3 หลัก ตามชื่อ CIV คือ 1. Consensus หลักฉันทามติ คือ การเห็นพ้องต้องกันระหว่างคนในชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ 2. Identity อัตลักษณ์ชุมชน คือ การค้นหาจุดเด่นและเสน่ห์ของชุมชน เพื่อนำมาสร้างเป็นจุดขาย และ 3. Value-added การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการชุมชนเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากทรัพยากรในพื้นที่ ทั้งนี้ หากชุมชนสามารถพัฒนาได้ด้วยหลัก 3 ข้อนี้ ประกอบกับมีการบริหารจัดการที่เข้มแข็งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานชุมชนมีความเข้มแข็ง มีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม และลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชุมชนสู่เมือง ส่งผลให้ชุมชน สามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็น 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย และเป็นภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สังเกตเห็นได้จากในปี 2560 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตประมาณร้อยละ 4 โดยตัวเลขการเติบโตมาจากการท่องเที่ยวถึงร้อยละ 2 ซึ่งส่วนใหญ่การท่องเที่ยวมักกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดหลัก ๆ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของชุมชนที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดด้านการท่องเที่ยวของชุมชนจากการเติบโต ในอุตสาหกรรมนี้” นายกอบชัย กล่าว

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร แปรรูปไทย (เอสเอ็มอีเกษตร) ตามแนวประชารัฐ โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ 600 กลุ่ม ประกอบด้วย ไมโครเอสเอ็มอี กลุ่มเกษตรแปรรูป วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์กองทุน และเครือข่ายวิสาหกิจ แบ่งเป็น เกษตรแปรรูป 300 กลุ่ม ซึ่งจะสร้างความเป็นผู้ประกอบการ เตรียมความพร้อม อบรม พัฒนา บ่มเพาะ พัฒนาการบริหารจัดการ และการรวมกลุ่ม รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า ผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านค้าสวัสดิการ ตลาดกลางประชารัฐ ตลาดกลางขนาดใหญ่ และตลาดต่างประเทศ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขณะที่อีก 300 กลุ่ม จะเป็นเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งจะเข้าไปพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรม และเครื่องจักร พัฒนามาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ จัดหาตลาดผ่านอีคอมเมิร์ซ ซึ่งทั้ง 600 กลุ่ม มีเป้าหมายที่จะสร้างผู้ประกอบการเกษตรแปรรูปและเอสเอ็มอีเกษตรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชน มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40

“การพัฒนาขีดความสามารถและการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเศรษฐกิจชุมชนฐานราก (เอสเอ็มอีเกษตร) ที่ผ่านมาเราได้ชี้แจงการสร้างความร่วมมือและประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจหลักการของโครงการผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งจัดการอบรมบ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการ (Farmer to Entrepreneur) ซึ่งหลังจากนี้ ช่วงเดือนพฤษภาคม ไปจนถึงเดือนกันยายน 2561 จะมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน โดยการจัดทีม 10 ทีม ๆ ละ 3 คน ลงพื้นที่ตามจุดที่มีการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ กรมฯ มีโครงการที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ การพัฒนาศักยภาพในการผลิต และการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันให้ SMEs เพื่อให้มีความพร้อมเป็นผู้ประกอบการที่มีความรู้ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณภาพ”อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย