AEM Retreatสร้างมาตรฐานพร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเร่งพัฒนามาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า ปรับปรุงกฎระเบียบรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล และก้าวทันโลกเทคโนโลยีและนวัตกรรม

Advertisement

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลสรุปการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM Retreat) ครั้งที่ 24 ซึ่งสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2561 ว่า อาเซียนย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนามาตรการ และกฏระเบียบต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม โดยที่ประชุมมีมติที่สำคัญในหลายประเด็น เช่น ให้เร่งสรุปผลการจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนให้เสร็จในปีนี้ สร้างเครือข่ายนวัตกรรมในอาเซียนให้เชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการ SMEs Startup นักลงทุน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ให้ผู้ผลิตและผู้ค้าที่ขึ้นทะเบียนในประเทศสมาชิกอาเซียนรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเองได้เพื่อความรวดเร็วในการใช้สิทธิทางภาษีส่งออกสินค้าไปประเทศอื่นๆ ในอาเซียน (ASEAN-wide Self-Certification) เร่งเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้เสร็จครบ 10 ประเทศในปีนี้จากปัจจุบันที่เชื่อมโยงกันแค่ 5 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม) ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนของภาคธุรกิจในการยื่นเอกสารนำเข้า-ส่งออกสามารถยื่นผ่านระบบออนไลน์เพียงครั้งเดียว และให้เร่งสรุปผลการเจรจาและลงนามความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ATISA) ให้เสร็จในปีนี้ เป็นต้น

นางสาวชุติมา กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานไปสู่แผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568 (AEC Blueprint 2025) ว่า อาเซียนตกลงที่จะเร่งรัดการปรับปรุงมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แล้วเสร็จซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน ลดต้นทุนธุรกรรมการค้าของผู้ประกอบการ เพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนภายในอาเซียน เช่น จัดทำแนวปฏิบัติการออกกฎระเบียบของอาเซียนเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจน และไม่สร้างภาระต่อภาคเอกชน ปรับปรุงกลไกการอำนวยความสะดวกทางการค้าของสมาชิกอาเซียนเพื่อลดต้นทุนและให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจ เร่งให้อาเซียนมีข้อตกลงยอมรับร่วมเรื่องการตรวจสอบและรับรองสุขลักษณะอาหารสำเร็จรูปที่ขณะนี้เหลือเพียงเมียนมาและเวียดนามที่จะต้องเร่งกระบวนการภายในให้แล้วเสร็จเพื่อลงนามในต้นปีนี้ เร่งหาข้อสรุปเรื่องที่จะให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ให้สิทธิประโยชน์อากรขาเข้าให้แก่ประเทศนอกอาเซียนดีกว่าที่ให้สมาชิกอาเซียนด้วยกัน จะต้องให้สิทธิประโยชน์เดียวกันนั้นกับสมาชิกอาเซียนด้วยกัน เป็นต้น

นางสาวชุติมา กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้หารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ซึ่งภาคเอกชนได้เสนอแนวคิด Smart Growth Connect ที่เน้นให้อาเซียนพัฒนาความเชื่อมโยงหลายมิติระหว่างกันเพื่อจะได้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน ทั้งการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม กฎระเบียบ การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ รวมถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ ASEAN-BAC ยังได้กล่าวสนับสนุนการทำงานของอาเซียน โดยเฉพาะความตั้งใจของอาเซียนที่จะเร่งปรับปรุงกลไกการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียนเพื่อลดต้นทุนการทำธุรกรรมลงร้อยละ 10 ภายในปี 2563 การส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ผ่านโครงการให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยเหลือให้คำปรึกษารายเล็ก การปรับตัวของอาเซียนเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) หรือก้าวให้ทันโลกเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการกับอาเซียนมากขึ้น

การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEM เป็นเวทีการหารือของรัฐมนตรีการค้าของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียน รวมทั้งให้แนวทางสำหรับประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เพื่อสนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าและการลงทุนในภูมิภาค โดยการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือ การประชุม AEM Retreat ในช่วงต้นปีซึ่งนอกจากรัฐมนตรีเศรษฐกิจจะหารือร่วมกัน 10 ประเทศแล้ว ยังมีการหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการการค้า สหภาพยุโรปด้วย และการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ในช่วงปลายปีที่ประกอบด้วยการหารือร่วมกันของรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 10 ประเทศ และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศภายนอก เช่น จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2560 เศรษฐกิจอาเซียนมีการเติบโตร้อยละ 5.1 และอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2560 มีมูลค่า 101,158 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออก 59,664 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 41,494 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกขยายตัวร้อยละ 8.9 และการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยในปี 2560 อาเซียนมีมูลค่า GDP ประมาณ 2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ