“กำไลข้อเท้า” จากโซ่ตรวน สู่ พันธนาการยุคดิจิทัล

การจำกัดสิทธิผู้ต้องหา หรือจำเลย ในยุคปัจจุบัน ได้รับการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเพื่อให้เข้ากับสมัยนิยมและลดแรงเสียดทาน เรื่องของการละเมิดสิทธิ และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  จึงนำมาซึ่งการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการยุติธรรมไทย เพื่อการควบคุมตัวผู้ต้องหา หรือจำเลย แทนการวางเงินประกัน และการขอปล่อยตัวชั่วคราว

Advertisement

วันนี้ 1 มีนาคม 2561 เป็นวันแรกของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า “กำไลข้อเท้า EM” เป็นครั้งแรกของประเทศไทย มาใช้แทนการวางเงินประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในการขอปล่อยชั่วคราว เพื่อใช้สืบเสาะพฤติกรรมผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีอาญา ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม และลดปริมาณผู้ต้องขังและจำเลย โดยมีศูนย์ควบคุมตรวจสอบติดตามการปล่อยชั่วคราวตลอด 24 ชั่วโมง  นับเป็นปรากฏการณ์เปลี่ยนผ่านจาก โซ่ตรวน และซี่กรงเหล็ก สู่การใช้ เครื่องพันธนาการในรูปแบบใหม่

นาย สราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า การใช้อุปกรณ์ดังกล่าว อยู่ในดุลยพินิจของศาล ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอในการประกันตัว หรือพฤติการณ์ไม่ร้ายแรง ซึ่งจะมีการนำร่องการใช้งาน กำไลข้อเท้า จำนวน 5,000 เครื่อง กับผู้ต้องหาคดีอาญาใน 23 ศาลทั่วประเทศ

สำหรับ 23 ศาลที่ว่า ประกอบไปด้วยศาลในพื้นที่กรุงเทพฯ คือ 1.ศาลอาญา 600 เครื่อง 2.ศาลจังหวัดมีนบุรี 600 เครื่อง 3.ศาลอาญากรุงเทพใต้ 300 เครื่อง 4.ศาลอาญาธนบุรี 300 เครื่อง  5.ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 50 เครื่อง

ในพื้นที่ต่างจังหวัด ได้แก่ 1.ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 (จ.สระบุรี) 2.ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 ( จ.สุรินทร์) 3.ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 4 (จ.ขอนแก่น) 4.ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 ( จ.เชียงใหม่) 5.ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 6 ( จ.พิษณุโลก) 6. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ( จ.นครศรีธรรมราช) 7.ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 ( จ.สงขลา) อีกศาลแห่งละ 50 เครื่อง 8.ศาลจังหวัดจันทบุรี 300 เครื่อง 9.ศาลจังหวัดพัทยา 200 เครื่อง 10.ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ 200 เครื่อง

11.ศาลจังหวัดขอนแก่น 200 เครื่อง 12.ศาลจังหวัดเชียงใหม่ 300 เครื่อง 13.ศาลจังหวัดพิษณุโลก 200 เครื่อง 14.ศาลจังหวัดนครปฐม 300 เครื่อง 15.ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช 300 เครื่อง 16.ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี 300 เครื่อง และ 17.ศาลจังหวัดสงขลา 300 เครื่อง

สำหรับกำไลข้อเท้าจะทำให้เจ้าพนักงานศาลรู้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลหรือไม่ เช่น  ป้องกันการหลบหนี หรือจะก่อเหตุประทุษร้ายกับผู้เสียหายอีก การออกนอกพื้นที่ หรือการฝ่าฝืนเงื่อนไข  โดยอุปกรณ์จะทำงานในการระบุตำแหน่ง ที่อยู่ และส่งข้อมูลพิกัดของผู้สวมใส่ทุกๆ 2 นาที และมีระบบแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์หากพบการกระทำผิด ตลอด 24  ชั่วโมง และหากอุปกรณ์ถูกตัดหรือทำลาย ก็จะส่งเสียงสัญญาณเตือนขึ้นทันที หรือกรณีพยายามหลบหนี ออกนอกพื้นที่ควบคุม เจ้าหน้าที่จะประสานตำรวจออกติดตามตัวได้ทันที

ด้านนายกำพล รุ่งรัตน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า กำไลข้อเท้า EM ได้ติดระบบนำทาง GPS โดยตัวกำไลน้ำหนักเบา 230 กรัม  โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ผลัดละ 8 คนๆละ 8 ชั่วโมง รายงานต่อผู้พิพากษาเวร ซึ่งกำไลข้อเท้า EM จำนวน 5,000 เครื่องที่ใช้ในปีนี้นั้น ใช้งบประมาณ 80,800,000 บาท และจะเพิ่มเป็น 10,000 เครื่องให้แก่ศาลอื่นๆ ในปีที่ 2 โดยจะมีการประเมินผลการใช้งานแบบปีต่อปี

อย่างไรก็ตามหลังจากเริ่มใช้นำร่องในวันที่ 1 มี.ค.นี้แล้ว ศาลก็จะประเมินประสิทธิภาพด้วยภายในสิ้นปี 2561 นี้ ขณะเดียวกันคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ( ก.บ.ศ.) ได้มีมติที่จะให้เพิ่มศาลนำร่องอีก 3 แห่งด้วย คือ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2 , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 7 และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกศาลละ 50 ชุด โดยขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาเกี่ยวกับงบประมาณที่ต้องเพิ่มต่อไป