เรื่องแบบนี้ไม่ธรรมดา เพราะอาจมี “คนที่จะต้องตกงานอีกเป็นจำนวนมาก” และมี “คนที่กำลังจะรวยขึ้นๆ” แม้อีกฟากผู้ที่ได้ประโยชน์จะเป็นประชาชนที่มีทางเลือกมากขึ้น สะดวกมากขึ้น “เอเย่นต์แบงค์กิ้ง” เรื่องนี้ ควรจะมองมุมไหนกันดี
ก็ไม่น่าแปลกใจอะไร สำหรับยุคแห่งธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วธุรกรรมใหญ่แม้กระทั่ง “ธนาคาร” ก็กำลังจะเปลี่ยนแปลงตาม จากภาพของธนาคารที่เปิดกันประมาณ 8 โมงครึ่งปิด 3 โมงครึ่ง กลายมาเป็น บริการออนไลน์อิเลกทรอนิกส์ต่างๆ ที่ไม่จำกัดเวลา หรือแม้กระทั่ง “การกระจายตัวของธุรกิจธุรกรรมทางการเงิน” จากธนาคารลงสู่ร้านสะดวกซื้อ ที่เป็นอีกความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่น่าจับตาตามอง ในนามของ “แบงค์กิ้งเอเย่นต์”
“แบงค์กิ้งเอเย่นต์” ก็จะคล้ายๆ กับ สาขาของธนาคารย่อมๆ โดยจะเข้ามาขยายธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ให้ประชาชน ทั้งรับเงิน ฝากเงิน ถอนเงิน เพียงแต่สถานที่ในการทำธุรกรรมจะเปลี่ยนไป จากเดิมต้องไปที่แบงก์ แต่หลังจากนี้เดินเข้าร้านค้าโชว์ห่วยและร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้เลย
ล่าสุดกับการเปิดเผยโดย นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ได้ลงนามในหลักเกณฑ์การเป็นตัวแทนธนาคาร หรือ แบงค์กิ้งเอเย่นต์แล้ว ซึ่งจะมีการประกาศออกมาในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้ประชาชนเข้ารับบริการทำธุรกรรมจากตัวแทนธนาคาร เช่น ร้านค้าโชห่วย หรือร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น
ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.ระบุว่า การมีแบงค์กิ้งเอเย่นต์จะช่วยให้ธนาคารสามารถขยายธุรกรรมทางการเงิน ทั้งรับเงิน ฝากเงิน ถอนเงิน ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่จะได้ประโยชน์มากเพราะเดินทางได้สะดวก อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนการเปิดสาขาของธนาคารและลดต้นทุนการขนย้ายเงินไปยังจังหวัดต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ร้านค้าที่ต้องการเป็นตัวแทนจะต้องมีระบบควบคุมที่ดี เพราะเป็นการดำเนินงานที่มีความเสี่ยง ส่วนธนาคารจะเลือกตัวแทนอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจของธนาคาร ซึ่งทาง ธปท. จะเปิดเผยรายละเอียดอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
เรื่อง “แบงค์กิ้งเอเย่นต์” นี้แม้จะเป็นการอนุมัติการเกิดธนาคารย่อยๆ ในร้านโชห่วย หรือร้านสะดวกซื้อ โดยมีความหมายแบบรวมๆ คือ “ร้านไหนที่พร้อมจะเป็นโชห่วยหรือสะดวกซื้อก็ได้” แต่แน่นอนว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมาเป็นทอล์ฟออฟเดอะทาวน์ในโลกโซเชียล ต่างพุ่งเป้าไปที่คำถามการได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ของ “เซ่เว่น อีเลฟเว่น” ร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ที่มีสาขาอยู่มากมายทั่วประเทศ
ที่เกิดคำถามนี้เพราะ 1.เอเย่นต์แบงค์กิ้งนั้น สำหรับร้านโชห่วยที่มีอยู่น้อยกว่าร้านสะดวกซื้อ อีกทั้งร้านโช่ห่วยบางร้านก็ไม่ได้ความพร้อมกับเรื่องนี้เพราะธปท.ระบุไว้ว่า “ต้องมีความพร้อม” 2.เอเย่นต์แบงค์กิ้งนั้น รับเงิน ฝากเงิน ถอนเงินได้ ตลอด 24 ชั่วโมง โชห่วยที่ไหนจะมาเปิดที 24 ชั่วโมง ซึ่งต่างกับร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมง 3.จำนวนสาขาของร้านสะดวกซื้อและจำนวนของร้านโช่ห่วยที่ต่างกันมาก4.เรื่องของทุน เรื่องของข้อจำกัดในด้านบุคลากรที่ต่างกัน และ 5.บริการทางการเงินแบบนี้ จะช่วยเสริมศักยภาพให้ร้านสะดวกซื้อเพราะมีบริการอื่นๆ มากกว่าโชห่วย
เอาง่ายๆ ว่า คำถามแบบนี้ที่ขึ้นในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับ “แบงค์กิ้งเอเย่นต์” ก็แทบไม่ต้องรอคำตอบเลยว่าใครจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้
ชวนคิดกันต่อไปได้แบบสมมุติให้เห็นภาพว่า “จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อธนาคารแบบเอเย่นต์แบงค์กิ้ง” ไปอยู่ในเซ่เว่น ฝาก-ถอน ได้ 24 ชั่วโมง ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของ ธุรกิจ ธุรกรรมทางการเงินที่อาจมีผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ
แต่ลามไปถึง “ตำแหน่งแห่งหนของเจ้าหน้าที่ธนาคาร” เพราะเมื่อ ใครๆ ก็เป็นธนาคารได้ ใครจะไปนั่งต่อคิวรอทำธุรกิจธุรกรรมในธนาคารเหมือนปกติ และก็เป็นคำถามที่ตามมาในเรื่องของ “สาขาและบุคลากรของธนาคารพาณิชย์” ว่าจะยังคงมีความสำคัญมากนน้อยเพียงใด
คำถามพวกนี้ช่างน่าคิด “แบงค์กิ้งเอเย่นต์” เรื่องนี้นอกจากจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่เจ้าเดิมๆ ที่อาจะได้ประโยชน์ ส่งผลกระทบต่อรายเล็กๆ รายย่อยๆ แล้ว ยังอาจกระทบลามไปถึงพนักงานและตัวของธนาคารเอง เรื่องแบบนี้ไม่ธรรมดา เพราะอาจมี “คนที่จะต้องตกงานอีกเป็นจำนวนมาก” และมี “คนที่กำลังจะรวยขึ้นๆ” แม้อีกฟากผู้ที่ได้ประโยชน์จะเป็นประชาชนที่มีทางเลือกมากขึ้น สะดวกมากขึ้น “เอเย่นต์แบงค์กิ้ง” เรื่องนี้ ควรจะมองมุมไหนกันดี
ภาคินสัน
ภาพประกอบจากแฟ้มข่าว