ลามทั่วภาคกลางแล้ว PM2.5 ฝุ่นมฤตยู กรมฝนหลวงเตรียมพร้อมสลาย แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขณะที่สธ.เตือนประชาชนกลุ่มเสี่ยงงดออกจากบ้าน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาปริมาณค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ประชาชนกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอย่างต่อเนื่องนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติการทำฝนหลวงสลายฝุ่นละอองจากปัญหาหมอกควันอย่างเร่งด่วน และจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ณ เวลา 08.00 น. ตรวจพบค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ 51 – 84 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) จำนวน 6 สถานี ได้แก่ บริเวณถนนพระราม 4 ถนนอินทรพิทักษ์ ถนนลาดพร้าว ถนนพญาไท เขตบางนา และเขตวังทองหลาง ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เตรียมพร้อมการปฏิบัติภารกิจ ทำฝนบรรเทาปัญหาหมอกควัน โดยสั่งการให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดนครสวรรค์ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดระยอง และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ โดยได้กำชับให้เพิ่มช่วงเวลาในการตรวจวัดสภาพอากาศชั้นบน จากเดิมเฉพาะ ช่วงเช้า เป็นช่วงเช้าและบ่าย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำในการปฏิบัติการฝนหลวงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเตรียมพร้อมเครื่องบินจำนวน 7 ลำ สำหรับการปฏิบัติภารกิจเร่งด่วนในครั้งนี้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสภาพอากาศเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา แม้จะยังไม่สามารถขึ้นปฏิบัติการ ฝนหลวงได้ เนื่องจากสภาพอากาศชั้นบนมีความเสถียรภาพ แต่ทางกรมฝนหลวงฯ จะยังคงติดตามสภาพอากาศและเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาปัญหาหมอกควันปกคลุมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อย่างต่อเนื่องต่อไป
นอกจากนี้ จากการตรวจวัดค่าปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันพบค่าปริมาณฝุ่นละออง PM10 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะที่ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ พบค่า PM10 อยู่ที่ 245 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี อยู่ที่ 132 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรมฝนหลวงฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมและจะทำการบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อดัดแปรสภาพอากาศ ลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจในความพร้อมของกรมฝนหลวงฯ ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว รวมถึงปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ และการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า
ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการเฝ้าระวังติดตาม สถานการณ์ฝุ่นละออง รวมถึงเฝ้าระวังประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบฝุ่นละออกจนเกิดโรคทางระบบเดินหายใจซึ่งขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรงหรือผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนหรือการเสียชีวิต โรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มลดลง และโรคปอดอักเสบแนวโน้มคงที่
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่ได้เกินค่าในทุกพื้นที่ และพื้นที่ที่มีค่าเกินมาตรฐานก็ไม่ได้ค่าสูงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขมี 5 มาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” ในการดูแลสุขภาพประชาชน คือ1.หลีกการสัมผัสฝุ่นละออง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด 2.ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ป้องกันฝุ่นละออง ทำความสะอาดบ้านทุกวัน 3.ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น หรือใช้ผ้าชุบน้ำปิดหมาดป้องกันฝุ่น 4.เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน และ 5.ลดการใช้รถยนต์และการเผาขยะ
พร้อมกันนี้ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัด เฝ้าระวังและรายงาน 4 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนัง ที่อาจเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งติดตามจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน และให้เจ้าหน้าที่ติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงในวันที่มีค่าฝุ่นสูง
ขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรงดออกจากบ้าน หรืออาคาร หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมนอกอาคาร ขอให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆหรือหน้ากากกันฝุ่นที่สามารถป้องกันฝุ่นขนาดเล็กมาปิดจมูกและปาก ดื่มน้ำมากๆ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหมในที่ที่มีฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน กลุ่มผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็กจะต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ภาพจากแฟ้มข่าว