ระวังภัยซัมเมอร์..เด็กจมน้ำ!ยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น”

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาเด็กจมน้ำเสียชีวิต โดยเฉพาะจากการชวนกันลงเล่นน้ำเป็นกลุ่ม ขอให้ผู้ปกครองคอยสังเกตและดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด หลังข้อมูลปี 2560 พบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปถึง 15 เหตุการณ์ หรือร้อยละ 71.4 ของเหตุการณ์เด็กจมน้ำทั้งหมด โดยสาเหตุหลักเกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่ม และเด็กขาดทักษะเอาชีวิตรอดในน้ำ รวมถึงการช่วยเหลือที่ถูกต้อง หากพบเห็นคนตกน้ำไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ให้ช่วยด้วยการ “ตะโกน โยน ยื่น” 

Advertisement
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่เด็กนักเรียนหญิงในจังหวัดปราจีนบุรี จมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน 3 ราย (จาก 5 ราย) บริเวณสระน้ำภายในหมู่บ้าน นั้น พบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากกลุ่มนักเรียนหญิง อายุ 9-12 ปี ได้ชวนกันไปเล่นน้ำที่สระน้ำในหมู่บ้าน เนื่องจากโรงเรียนหยุดเรียน ส่วนใหญ่เด็กว่ายน้ำไม่เป็น

ขณะเล่นน้ำเกิดลื่นไถลลงในบ่อน้ำและพยายามจะช่วยเหลือกัน เพื่อนที่ว่ายน้ำเป็นได้ว่ายไปเกาะขอนไม้ขึ้นฝั่งได้ จากนั้นได้นำไม้ไผ่ที่อยู่ข้างขอบสระน้ำมาให้เพื่อนจับและช่วยขึ้นมาจากน้ำมาได้ 1 คน ส่วนเพื่อนอีก 3 คน จมน้ำเสียชีวิต

กรมควบคุมโรค ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและความสูญเสียของครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีการช่วยเหลืออย่างถูกต้องและถูกวิธี 1 คน โดยการยื่นไม้ช่วย มิเช่นนั้นเราอาจสูญเสียเด็กเพิ่มมากขึ้นอีก

อย่างไรก็ตามทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประสานพื้นที่เพื่อสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับรายงาน และดำเนินการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ช่วงนี้ใกล้ปิดเทอมและกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งในช่วงดังกล่าวนี้จะพบเด็กจมน้ำเสียชีวิตตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ของกรมควบคุมโรค ในปี 2560 ที่ผ่านมา พบเหตุการณ์จมน้ำเสียชีวิต 33 เหตุการณ์ เกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 21 เหตุการณ์ และมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปถึง 15 เหตุการณ์ หรือร้อยละ 71.4 โดยสาเหตุหลักเกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่ม และเด็กขาดทักษะเอาชีวิตรอดในน้ำ และการช่วยเหลือที่ถูกต้อง

ส่วนสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ในชุมชน เช่น สระเก็บน้ำ บ่อขุดเพื่อการเกษตร ฝายทดน้ำ อ่างเก็บน้ำ ซึ่งแหล่งน้ำส่วนใหญ่ไม่มีการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยง เช่น การปักป้ายเตือน การกั้นรั้ว การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ

ทั้งนี้ เด็กจมน้ำยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2560 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 708 คน โดยพบมากสุดในช่วงปิดเทอม 3 เดือน (มีนาคม–พฤษภาคม) และเกือบครึ่งเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปีมากที่สุด และช่วงนี้ใกล้จะปิดเทอมแล้ว

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ทุกชุมชนดำเนินการ ดังนี้ 1.สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน 2.เฝ้าระวังและแจ้งเตือนในชุมชน เช่น ประกาศเสียงตามสาย คอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง 3.จัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง (ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ไม้) และ 4.สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับผู้ปกครองควรเตือนเด็กและสอนให้เด็กเรียนรู้กฎความปลอดภัยทางน้ำ เช่น ไม่เล่นใกล้แหล่งน้ำ รู้จักประเมินแหล่งน้ำ เช่น ความลึก ความตื้น และกระแสน้ำ เป็นต้น

ในโอกาสนี้ ขอฝากถึงประชาชน ผู้ปกครอง และเด็กๆ หากพบเห็นคนตกน้ำไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 1.ตะโกน คือ การเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และ 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422