เป็นเรื่องหนึ่ง ที่น่ายินดี สำหรับพี่น้องประชาชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “ปากท้อง” การทำมาหากิน การเข้าถึงแหล่งเงิน และ โอกาสการประกอบอาชีพของทุกคน โดยเฉพาะระดับฐานรากของเศรษฐกิจ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติ สถาบันการเงินประชาชน ว่า การมีมติเห็นชอบดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศที่สำคัญ ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ประชาชน สามารถจัดตั้งสถาบันการเงินเล็กๆ ในชุมชนของตนเองได้ในทุกๆ ตำบลทั่วประเทศ โดยกฎหมายฉบับนี้ จะส่งผลดีกับพี่น้องประชาชนมากกว่า 20-30 ล้านคน ทั้งในชนบทและในเมือง
โดยเฉพาะผู้ที่เข้าไม่ถึงธนาคารพาณิชย์ อาจเป็นเพราะว่าไม่มีสาขาธนาคารตั้งอยู่ใกล้บ้าน หรืออยู่ในชุมชนจะฝาก จะถอนเงิน แต่ละครั้ง ต้องเดินทาง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายมาก และเสียเวลาไป หรือ อาจเป็นเพราะไม่มีเอกสาร ไม่มีประวัติเครดิต ที่สำคัญ คือ ไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกันผลที่ตามมา คือ พี่น้องเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการทำมาหากิน ไม่สามารถเป็นเจ้าของกิจการ และไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และต้องหันไปพึ่ง “แหล่งเงินนอกระบบ” ซึ่งผลให้ถูกกระทำในทางที่ผิดกฎหมาย ขูดรีด เรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูง 20-30% ต่อเดือน สุดท้าย ทำให้หลายรายต้องสูญเสียที่ดินอันเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษไปให้แก่นายทุนเงินกู้นอกระบบ รวมทั้ง โดนทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลนี้ ได้ผลักดัน พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 สามารถแก้ไขปัญหาได้ส่วนหนึ่ง
สำหรับพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนรวมกลุ่มจัดตั้งสถาบันการเงินเล็กๆ ในชุมชนของตนเองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีพี่เลี้ยง คือ ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คอยสนับสนุนในทุกๆ ด้าน อาทิ การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้แก่กรรมการและผู้บริหาร การสร้างความโปร่งใส การพัฒนาระบบ เช่น สอนวิธีการลงบัญชีที่ถูกต้อง เป็นต้น และให้คำแนะนำเรื่องกฎหมายด้วย ต้องระมัดระวัง อย่าไปทำผิดกฎหมายให้เกิดปัญหาขึ้นอีก
ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถออม – ถอน – โอน – กู้เงิน ได้สะดวก เข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย ในพื้นที่ชุมชนของตน โดยไม่เสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนในอดีต สามารถลืมตาอ้าปาก และเข้มแข็งได้ในที่สุด นี่คือการแก้ปัญหาทั้งระบบ
ขณะเดียวกันสถาบันการเงินเล็กๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่ทำอยู่แล้ว ปัจจุบันทั้งประเทศ มีรวมกันเกือบ 30,000 แห่ง ในรูปแบบกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หรือ สถาบันการเงินชุมชน เป็นต้น บางแห่งตั้งมา 10 ปี เก็บออมกันได้ 1 ล้าน 10 ล้าน 50 ล้าน บางแห่งประสบความสำเร็จ ขยายไปถึง 100 ล้าน ก็มี ขึ้นอยู่กับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ และ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนนั้นๆ
ยกตัวอย่างที่จังหวัดตราดตนก็ได้พบกับพระอาจารย์ สุบิน ผู้ที่ได้นำพี่น้องประชาชน เก็บออมวันละเล็ก วันละน้อย 1 บาท 5 บาท 10 บาท จนกระทั่งวันนี้ จากเม็ดเงินเล็กๆ ที่ทุกคนช่วยกันเก็บออม เครือข่ายการออมของท่านในจังหวัดตราด มีเงินออมถึง 2,700 ล้านบาท สามารถช่วยปลดหนี้นอกระบบ เป็นทุนในการทำการเกษตร ทำธุรกิจ และ นำกำไรมาแบ่งปันจัดสรรเป็นสวัสดิการในชุมชนให้กับสมาชิก แต่สิ่งที่ทุกคนรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ อยากได้จากรัฐบาล ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ไม่มีใครทำให้ คือ กฎหมายที่จะมารองรับสิ่งที่พี่น้องประชาชนทำอยู่ ให้ความเป็น “นิติบุคคล” เพื่อสถาบันการเงินเหล่านี้ จะได้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน
ตนหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาของ สนช. ภายในปีนี้ และเมื่อผ่านแล้วเราจะเปิดให้กลุ่มการออมของพี่น้องประชาชน สมัครยกระดับเป็นสถาบันการเงินประชาชนต่อไป ด้วยความสมัครใจ ตนขอย้ำว่า โดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับ
นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่ “วงจร” หรือ “เครือข่าย” การเงิน – การธนาคาร – สถาบันการเงินของประเทศแล้ว ก็จะเป็นการเติมเต็ม โดยประชาชนจะยังมีอิสระในการบริหารจัดการ รับเงินฝาก ปล่อยกู้ ด้วยกฎเกณฑ์ของชุมชนของตนเองเช่นเดิม ตรงนี้ ตนขอย้ำเช่นกันว่าทุกชุมชนจะยังสามารถกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ด้วยตนเอง เพราะทุกพื้นที่ มีลักษณะที่ต่างกัน ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ต่างกัน
ดังนั้นเราต้องให้ทุกคนสามารถเลือกแนวทางที่เหมาะกับตนเอง ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายได้ประกาศใช้แล้ว รัฐบาลจะทยอยอนุญาต ให้กับชุมชนที่พร้อมและสนใจ ประมาณตำบลละแห่ง หากเป็นตำบลใหญ่ อาจจะมีมากกว่านั้น ก็ได้ / ซึ่งในระยะยาว จะทำให้เรามี “โครงข่ายสถาบันการเงินประชาชน” ตามกฎหมายนี้ อย่างน้อย 7,000 แห่ง ทั่วไทย / ที่เป็นของพี่น้องประชาชน ดำเนินการโดยพี่น้องประชาชน และ เพื่อพี่น้องประชาชน ซึ่งจะนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน “ระเบิดจากภายใน” นำไปสู่ความพอเพียง พึ่งตนเอง ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้สืบสาน และต่อยอดต่อไป