ไร้ฝนใช่ไร้ไข้เลือดออก..กทม.-ใต้เฝ้าระวังหนัก

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชน ระวังโรคไข้เลือดออก และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะอื่นๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัด ที่เป็นเมืองใหญ่ทางภาคใต้ เนื่องจากในบางพื้นที่อาจยังมีฝนตก เสี่ยงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ขอให้ใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” พร้อมเผยปีนี้พบผู้ป่วยกว่า 1 พันรายแล้ว

Advertisement

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวเด็กเสียชีวิตสงสัยป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ภาคใต้ นั้น กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช จัดส่งส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎ์ธานีและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคหลังได้รับรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยันอีกครั้ง

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2561 นี้ ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะระบาดรุนแรง ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 29 ม.ค. 61 พบผู้ป่วยทั้งประเทศ 1,279 ราย อัตราป่วย 1.94 ต่อประชากรแสนคน ต่ำกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลังและต่ำกว่าจำนวนผู้ป่วย ณ ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 3 ราย คิดเป็นอัตราการป่วยตายเท่ากับร้อยละ 0.23 ซึ่งสะท้อนว่าคุณภาพการรักษาผู้ป่วยของประเทศไทยอยู่ในมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพมาก ส่วนพื้นที่ที่มีอัตราป่วย โรคไข้เลือดออกสูงในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล และจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่ทางภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สงขลา และกระบี่

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลกรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทุกแห่งทั่วประเทศ ได้ดำเนินการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายพบว่าในเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา พบว่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชน โดยเฉพาะตามที่พักอาศัยยังพบลูกน้ำยุงลายสูงมาก แม้จะยังไม่เข้าสู่ฤดูฝน ทั้งนี้เนื่องมาจากในบางพื้นที่อาจยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หลังจากนี้ และจากการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรค ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ด้านนายแพทย์ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวเพิ่มเติมว่า หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ช้าอาจทำให้อาการหนักก่อนมาถึงโรงพยาบาลได้ อาจเป็นเหตุสำคัญทำให้มีโรคแทรกซ้อนรักษายากขึ้นและเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตได้ เช่น ความไม่รู้จึงไปรักษาที่อื่นก่อน ไม่ได้เข้ารับการวินิจฉัยเชิงลึก ดังนั้น หากประชาชนหรือพบคนใกล้ชิดมีอาการสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะอาการไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วัน ไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย รักษาอย่างถูกต้อง หากแพทย์ให้กลับมารักษาตัวที่บ้านก็ไม่ต้องกังวล เพราะส่วนใหญ่โรคไข้เลือดออกหายได้เอง หากไม่เข้าสู่ภาวะช็อก มีเพียงบางรายเท่านั้น ซึ่งจะมีอาการในช่วงไข้ลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการซึม กระสับกระส่าย ชีพจรเต้นเร็ว มือเท้าเย็น บ่นปวดท้อง อาจมีเลือดกำเดา อาเจียนปนเลือด หรือถ่ายปนเลือด หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต้องรีบกลับไปพบแพทย์ที่เดิมให้เร็วที่สุด ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422