สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ว่า นางยังฮี ลี ผู้เขียนรายงานพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำเมียนมา รายงานต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) เมื่อวันจันทร์ ว่า จากหลักฐานต่างๆ แสดงให้เห็นว่า การกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจาให้หมดไปจากเมียนมา อาจเป็นเป้าหมายสูงสุดของการข่มเหงทางรัฐธรรมนูญและความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อคนกลุ่มนี้
ความรุนแรงรอบล่าสุดสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์กลุ่มคนร้ายโจมตีเจ้าหน้าที่ในรัฐยะไข่ของเมียนมาเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง โดยทางการได้ส่งกำลังลงพื้นที่ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวโรฮีนจา ระบุว่าเป็นมาตรการตามล่าและกวาดล้างผู้ก่อการร้ายซึ่งก่อเหตุดังกล่าว มีรายงานการใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวบ้านโดยเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ทั้งการข่มขืนหญิงสาว สังหารเด็ก และเผาบ้านเรือนประชาชน รวมถึงการสังหารและควบคุมตัวผู้ที่ระบุว่าเป็นผู้ต้องสงสัย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพชาวโรฮีนจาไหลทะลักข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศ
ทางการเมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ และมีการตั้งการสืบสวนภายใน อย่างไรก็ตาม นางลีกล่าวว่าการสืบสวนภายในของรัฐบาลไม่เพียงพอ โดยได้เรียกร้องต่อที่ประชุมให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสืบสวน (ซีโอไอ) เพื่อสืบสวนเรื่องดังกล่าว เช่นเดียวกับในกรณีความขัดแย้งรุนแรงเมื่อปี 2555 และ 2557 ขณะที่นางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐและ รมว.กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา เคยกล่าวก่อนหน้านี้ ปฏิเสธแนวคิดซีโอไอและยืนยันว่าการสืบสวนภายในจะสามารถเปิดเผยความจริงได้
ทั้งนี้ การจัดตั้งซีโอไอในอยู่ในระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมซึ่งจะสิ้นสุดวาระภายในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนข้อเสนอของนางลีจะยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในที่ประชุม โดยอียูยังคงกังวลว่าการสอบสวนอาจกระทบต่อแรงขับเคลื่อนทางประชาธิปไตยที่ยังเปราะบางในเมียนมา
นายติน ลิน เอกอัครราชทูตเมียนมา กล่าวว่า ข้อกล่าวหาของนางลีเรื่องอาชญากรรมต่อมนุษยชาตินั้นพิสูจน์ไม่ได้และเป็นเพียงการมองแค่ด้านเดียว สถานการณ์ในรัฐยะไข่เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน คำตอบของปัญหานี้ก็ซับซ้อนไม่แพ้กัน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เมียนมาต้องได้รับความเข้าใจจากประชาคมโลก ขณะที่เจ้าชายเซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวไว้ว่า กรณีการปฏิบัติต่อชาวโรฮีนจาที่เกิดขึ้นนั้น จัดว่าเข้าข่ายที่จะจัดตั้งคณะกรรกมการสืบสวนโดยยูเอ็นและนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้ (ไอซีซี).
ที่มา เดลินิวส์