“รมช.วิวัฒน์” แนะ สวพส. กำหนดพื้นที่เป้าหมายนำร่องหยุดหมอกควัน ฟื้นป่า หนุนเกษตรกรรุ่นเยาว์ ต่อยอด “เมืองอางโมเดล”
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) จังหวัดเชียงใหม่ หรือ สวพส. ว่า การพัฒนาพื้นที่สูงต้องมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและชุมชน โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย ทำงานขยายผล สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและขยายผลการดำเนินงานโครงการหลวงเน้นการบูรณาการเชิงพื้นที่ให้เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาของชุมชน ภายใต้แผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564)
“การทำงานในพื้นที่สูงซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 67 ล้านไร่ 20 จังหวัด 4,000 กว่ากลุ่มบ้าน มีคนกว่า 1 ล้านคนอยู่ในพื้นที่สูง ส่วนมากมีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ และสิทธิ์การอยู่อาศัย ซึ่งที่ผ่านมาทราบดีว่าก่อให้เกิดปัญหาในการดำเนินงานในหลายเรื่อง ถ้าหากเราเข้าใจ เข้าถึง และน้อมนำหลักการพัฒนาตามแนวทางที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทำให้ดูมาปฏิบัติ เราจะเห็นว่าท่านทำด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ไม่ได้ใช้แต่กฎหมาย และการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำนั้นต้องทำทั้งระบบ ต้องมองปัญหาเชื่อมโยงกันทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้นน้ำซึ่งเป็นพื้นที่สูงมีปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินสูง จำเป็นต้องใช้งานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำงานต้องทำในเชิงรุก และเน้นการลงขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายให้ชัดเจน เช่น พื้นที่แม่แจ่ม เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านมีความเข้มแข็ง และมีการเริ่มต้นดำเนินการหยุดปลูกข้าวโพดแล้ว สวพส. ควรได้ไปขยายผลในการนำโมเดลที่สำเร็จแล้วของ สวพว. เข้าไปช่วยหนุน ปลุกชาวบ้านให้ลุกขึ้นมาทำ ถ้าเราหยุดอำเภอที่ยากที่สุดได้ อำเภออื่นๆ จะมาดูงานเรา รัฐบาลทุ่มเทเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานราก แต่ภูเขาที่เป็นต้นน้ำยังพังขนาดนี้ ไม่มีทางที่เศรษฐกิจฐานรากจะดีขึ้นได้ เพราะดินเป็นปัจจัยพื้นฐานของการทำเกษตร จะทำโครงสร้างพื้นฐานต้องทำเรื่องดิน ถ้าวิธีแก้ปัญหายังวนอยู่ในระบบของเงินจะไม่สามารถออกจากปัญหาได้ ต้องเริ่มตามที่พระองค์ท่านตรัสไว้คือ “พอมี พอกิน” ทำพื้นฐานให้มั่นคงเสียก่อน หยุดการเผาทำลายซังข้าวโพดให้ได้ ทำดินให้สมบูรณ์จะเป็นการทำเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน” นายวิวัฒน์ กล่าว
จากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจพื้นที่นำร่อง “เมืองอางโมเดล” หมู่บ้านเมืองอาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สนับสนุนงานของโครงการหลวงที่ขยายผลการทำการเกษตรที่สูงแบบโครงการหลวง โดยบูรณาการร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานต่างๆ จนสามารถคืนผืนป่าได้กว่า 1,700 ไร่
นายวัชรินทร์ พจนบัณฑิต หรือพ่อหลวงแม็ค กล่าวว่า เมื่อก่อนเมืองอางก็ทำไร่เหมือนกับที่อื่นๆ หน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเมื่อปี 2543 ทั้งโครงการหลวง ต้นน้ำและอุทยานก็เข้ามาช่วยเรื่องฝาย การปลูกผักของที่นี่จะมีกฎร่วมกันว่า เราจะเดินรดน้ำผักวันละ 2 ครั้ง จะไม่ใช้ระบบน้ำหยด เพื่อที่จะได้ดูผักของเราด้วย ขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมกับเรา 51 ราย มีโรงเรือน 90 โรงเรือน และมีกฎว่า 1 คนทำได้ไม่เกิน 3 โรงเรือน ต้องมีแรงงานเข้ามาช่วย และการวางแผนการปลูกร่วมกัน ถ้าไม่เข้าร่วมประชุมก็จะไม่ได้รับแผนการปลูก เมื่อทำแบบนี้ชาวบ้านก็ไม่มีเวลาไปทำไร่ข้างบน สุดท้ายก็กลายเป็นป่า ได้ป่าคืนมา 1,700 ไร่ วิถีเดิมของชาวบ้านก็อยู่กับป่า เมื่อป่ากลับมา น้ำก็กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม
ทั้งนี้ “เมืองอางโมเดล” เป็นอีกหนึ่งพื้นที่บูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามนโยบายของรัฐบาลโดยกรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาส่งเสริมเรื่องการทำปุ๋ย ระบบการกระจายน้ำ การจัดระบบแปลงและปัจจัยการผลิต โดยเป็นระบบแปลงรวมโดยกลไกสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวชื่นชมความสำเร็จของเมืองอางโมเดล ว่า “เมืองอางในวันนี้สำเร็จเป็นต้นแบบแล้ว แต่ต้องมองอนาคตต่อไป บ้านเราประชากรจะเพิ่มมากขึ้น แสดงว่าเราต้องการผลผลิตเพิ่ม ในกลุ่มที่ร่วมมือกันทำมานี้ควรหาคนที่มีความชำนาญด้านการวางแผนเพื่อมาวางแผนรองรับ ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกข้าวทำได้ไร่ละ 50 ถัง ต้องเพิ่มเป็น 70 ถัง ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และต่อยอดเรื่องการตลาดออนไลน์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องทำโดยคนรุ่นใหม่ให้มาช่วยกันคิด ให้ลูกหลานไปชักชวนคนในชุมชนมาช่วยกันคิด เพื่อให้เมืองอางเป็นโมเดลขยายผลไปที่อื่นๆ ต่อไปโดยวิถีสร้างสรรค์และแบ่งปัน วิถีของเรายังคงอยู่ แต่ก็ต้องแข่งขันได้ อยู่รอดได้ในโลกยุคใหม่”
เมืองอางโมเดลมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนในชุมชน โดยการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตพืชอินทรีย์ ด้านฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยการผลิตปุ๋ยหมัก ด้านการบริหารจัดการน้ำมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำด้านการเกษตร จนสามารถคืนพื้นที่ป่าได้กว่า 1,700 ไร่ และทำแนวป้องกันไฟป่า 20 กิโลเมตร นับเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่มีความเข้มแข็งในการอยู่ร่วมกับป่าได้โดยไม่ต้องทำลาย และสามารถขยายองค์ความรู้ไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้ด้วย