โฆษกกระทรวงสาธารณสุขเตือนนักท่องเที่ยวกลับจากเที่ยวป่าหน้าหนาว หากป่วย มีไข้ ปวดศีรษะ สงสัยป่วยโรคสครับไทฟัสหรือมาลาเรีย ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติเข้าป่าให้แพทย์ทราบ เพื่อให้รักษาได้อย่างรวดเร็ว
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคที่อาจพบหลังจากกลับจากท่องเที่ยวป่าในช่วงหน้าหนาว คือโรคสครัปไทฟัส (Scrub typhus) หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ที่มีตัวไรอ่อนเป็นพาหะนำโรค และโรคมาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งทั้ง 2 โรคพบได้ตลอดปี
โดยโรคสครับไทฟัส เกิดจากตัวไรอ่อนที่มีเชื้อโรคกัด ตัวไรอ่อนมักจะเข้าไปกัดอวัยวะที่อยู่ในร่มผ้า เช่น ขาหนีบ เอว ใต้ราวนม รักแร้ หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการป่วยคือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะบริเวณขมับและหน้าผากอย่างรุนแรง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดกระบอกตา ไอแห้งๆ ผู้ป่วยร้อยละ 30-40 จะพบแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ (eschar) ตรงบริเวณที่ถูกกัด ลักษณะสีแดงคล้ำเป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ อาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ตัวไรอ่อนจะอาศัยตามพุ่มไม้ในป่าที่มีอากาศชื้น แสงแดดส่องไม่ถึง ตั้งแต่ 1ตุลาคม 2560–12 มกราคม 2561 พบผู้ป่วยโรคนี้แล้ว 2,185 ราย เสียชีวิต 2 ราย
ส่วนโรคมาลาเรีย หรือไข้ป่า หรือไข้จับสั่น เกิดจากยุงก้นปล่องที่มีเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในป่ากัด หลังถูกยุงกัดประมาณ 14 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ บางรายมีอาการหนาวสั่น หากรักษาไม่ทันท่วงทีอาจเกิด ภาวะแทรกซ้อน เชื้อขึ้นสมอง หมดสติ เม็ดเลือดแดงแตก ไตวาย เสียชีวิตได้ ตั้งแต่ 1ตุลาคม 2560–12 มกราคม 2561 พบผู้ป่วย 500 ราย
นายแพทย์โอภาส กล่าวในตอนท้ายว่า ทั้งนี้หลังจากออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และซักเสื้อผ้าที่สวมใส่ให้สะอาดป้องกันตัวไรอ่อนที่ติดมากับเสื้อผ้ากัด และภายใน 15 วัน หากมีอาการป่วย คือไข้สูง ปวดศีรษะ ขอให้พบแพทย์และแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อสามารถให้การรักษาอย่างถูกต้อง ป้องกันการเสียชีวิตได้