นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งแหลมฉบังชลบุรี เดือด! กรมทางหลวง ปิดทางเข้า-ออกมอเตอร์เวย์สาย 7 กรุงเทพฯ-พัทยา ไม่ใช่แค่ชาวบ้านเดือดร้อน แต่ผู้ประกอบการขนส่ง-ภาคท่องเที่ยวทรุดหนัก แฉ กรมทางหลวง หวังแค่รายได้ฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งยังสวนทางการเกิดขึ้นของ EEC ที่อาจทำให้ต่างชาติย้ายฐานผลิตหนีปัญหารถติด เปรยปิดทางไม่ถึงเดือนภาคขนส่งเสียหายแล้วกว่าพันล้านบาท เตรียมระดมทุกภาคส่วนเคลื่อนไหวอีก ชี้หากไม่มีอะไรดีขึ้นอาจถึงขั้นรวมตัวร้องนายกรัฐมนตรี…
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นางสุนีย์ ภูติวณิชย์ นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งแหลมฉบังชลบุรี เกี่ยวกับผลกระทบจากการปิดทางเข้า- ออก ถนนมอเตอร์เวย์ สาย 7 กรุงเทพฯ-พัทยา ช่วงชลบุรี-พัทยา จำนวน 22 จุด รวมระยะทาง 22 กิโลเมตรว่า ไม่เพียงแต่ทำให้ชาวบ้านใน อ.ศรีราชา ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางคู่ขนานทั้ง 2 ฝั่งที่ไม่สามารถข้ามไปมาหากันได้ แต่การปิดกั้นทางเข้า-ออกถนนมอเตอร์เวย์ ยังทำให้รถบรรทุกสินค้าและรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ที่ไม่สามารถวิ่งขึ้นถนนมอเตอร์เวย์ได้ ต้องหันมาใช้ทางคู่ขนานจนทำให้สภาพถนน 2 เลนแออัดไปด้วยจำนวนรถยนต์และรถขนส่งสินค้า เพราะพื้นที่รอบๆ อ.ศรีราชา มีนิคมอุตสาหกรรมล้อมรอบ ซึ่งเมื่อพนักงานหรือประชาชนจะเดินทางไปนิคมอุตสาหกรรมต้องใช้เส้นทางดังกล่าว ทำให้มีรถสะสมจำนวนมากจนกลายเป็นคอขวด เพราะมีเส้นทางเชื่อมต่อทั้งจาก เส้นทางสาย 331 ,สายระยอง เมื่อถึงคอขวดก็ไม่สามารถวิ่งขึ้นเส้นทางมอเตอร์เวย์ได้ ทำให้การจราจรหนาแน่นระบายไม่ทัน รถติดสะสมยาวกว่า 5-6 กิโลเมตร
ส่วนผลกระทบที่เกิดกับภาพรวมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และระยอง คือแนวโน้มการย้ายฐานลงทุนของผู้ประกอบการต่างชาติเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหารถติดมีสูงมาก จากปัญหาการปิดทางเข้า-ออกถนนมอเตอร์เวย์ ทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้า ซึ่งแต่เดิมผู้ประกอบการเคยวิ่งรถขนส่งสินค้าได้วันละ 2-3 เที่ยว แต่ทุกวันนี้กลับวิ่งรถขนส่งสินค้าได้เพียงเที่ยวเดียว บางครั้งเกือบวิ่งส่งคืนตู้สินค้าไม่ทัน กว่าจะผ่านการจราจรแต่ละช่วงติต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นรวมแล้วไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งรถบรรทุกสินค้า 1 คันถ้าติดเครื่องแล้วจอดอยู่เฉยๆ เป็นเวลา 2 ชั่วโมงจะสูญเสียพลังงานประมาณ 3-4 ลิตร และเมื่อต้องวิ่งไปกลับทำให้ต้องเสียเวลา 4-5 ชั่วโมง จะเผาผลาญพลังงานวันละไม่น้อยกว่า 20 ลิตรต่อคัน และขณะนี้สมาคมฯ มีสมาชิกกว่า 100 บริษัท รวมรถบรรทุกกว่า 1,000 คัน ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจึงมหาศาล หากคำนวณคร่าวๆ ก็น่าจะไม่ต่ำกว่าพันล้านบาทต่อวัน และเมื่อนักลงทุนมาเห็นสภาพเช่นนี้ อาจจะไม่กล้าเข้ามาลงทุน สุดท้ายก็อาจย้ายฐานไปประเทศอื่นแทน
นางสุนีย์ ยังเผยอีกว่า กรมทางหลวงคิดเพียงแค่ว่าการจัดทำถนนมอเตอร์เวย์ จะทำให้การขนส่งสินค้าดีขึ้นและผู้ประกอบการสามารถทำจำนวนเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่กรมทางหลวง บริหารจัดการไม่เกิดผลกลับทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าใช้ถนนมอเตอร์เวย์ได้ เนื่องจากไม่มีเส้นทางเข้า-ออก ทั้งยังเปิดจุดให้เข้า-ออกเพียงจุดเดียว คือ ด่านหนองขาม ซึ่งไม่สะดวกและไกล ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยทำรายได้จากการวิ่งส่งสินค้าต่อเที่ยวประมาณวันละ 10,000 บาท ลดเหลือเพียง 3,000-4,000 บาทเพราะเสียเวลาและค่าใช้จ่าย จนเริ่มประสบปัญหารายได้ไม่พอจ่ายค่าแรงลูกจ้าง เช่นเดียวกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่ศรีราชา และเมืองพัทยา ที่ขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้าจากปัญหารถบัสนำเที่ยวไม่สามารถเข้าสถานที่ท่องเที่ยวได้ สุดท้ายบริษัทนำเที่ยวก็จำเป็นต้องหาแหล่งท่องเที่ยวอื่น ที่อาจไม่ใช่พัทยา หรือศรีราชา แต่จะย้ายจำนวนนักท่องเที่ยวไปยังจังหวัดอื่นๆ แทน โดยสิ่งที่สมาคมฯ เรียกร้องให้กรมทางหลวง เร่งแก้ไขโดยด่วนคือ
1. ให้เปิดช่องทางเข้าออกมอเตอร์เวย์สู่เส้นทางคู่ขนาน เพื่อระบายรถให้ลื่นไหล
2. ด่านเก็บเงินหนองขาม บริเวณถนนอินโดจีนให้ย้ายไปอยู่บนถนนมอเตอร์เวย์ หรือยกเลิกไป หรือหากต้องการจะเก็บเงิน ให้เก็บตั้งแต่ด่านบางพระ และปล่อยช่วงเข้า-ออกให้เป็นเส้นทางฟรีเวย์ เนื่องจากเป็นเขตอุตสาหกรรม เพื่อให้การการสัญจรผ่านไปมาได้สะดวกขึ้น โดยผู้ประกอบการพร้อมเสียค่าผ่านทาง ถ้าเส้นทางสะดวกแต่ไม่ใช่ให้เข้าต้นทางและบังคับให้ออกปลายทางเพียงจุดเดียว และควรต้องเปิดเส้นทางให้สามารถออกได้โดยสะดวกด้วย
นางสุนีย์ บอกว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าไม่นิ่งนอนใจ และเตรียมที่จะรวมตัวกับผู้นำท้องถิ่นและองค์กรต่างๆ ที่เดือดร้อน เพื่อร้องเรียนปัญหาถึงหน่วยงานระดับสูงต่อไป ซึ่งสุดท้ายหากยังไม่ดีขึ้นก็จะต้องร้องเรียนต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างแน่นอน.