ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นทั่วประเทศ 5-22 บาท จับตาราคาสินค้าจะขยับตามมั้ย?

ฟินสุดๆ สำหรับพี่น้องแรงงานไทย เมื่อ คณะกรรมการค่างจ้าง ประชุมยาวเหยียดได้ผลสรุป ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 77 จังหวัดทั่วประเทศ สูงสุด 330 บาท ต่ำสุด 308 บาท ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าราคาสินค้าจะขึ้นตามหรือไม่?

Advertisement

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เปิดเผยหลังการประชุมพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยแจ้งว่าที่ประชุมมีมติปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นทั่วประเทศ ทั้ง 77 จังหวัด ปรับตั้งแต่ 5 – 22 บาท แบ่งเป็นทั้งหมด 7 ระดับ ตามสภาพความเจริญทางเศรษฐกิจ โดยจังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นสูงสุด คือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง จำนวน 330 บาท รองลงมาคือกรุงเทพมหานครและปริมณฑลปรับ 325 บาท

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน

จังหวัดที่ปรับเป็น 320 บาท มีทั้งหมด 14 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และพังงา

ส่วนจังหวัดที่ปรับเป็น 318 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ และปราจีนบุรี

ขณะที่จังหวัดที่ปรับขึ้นเป็น 315 บาท มี 21 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย อุดรธานี ยโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี และอ่างทอง

จังหวัดที่ปรับขึ้นค่าแรงเป็น 310 บาท จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี นครศรีธรรมราช แม่ฮ่องสอน ตรัง ลำปาง ลำพูน เชียงราย สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ศรีสะเกษ ตาก ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ ราชบุรี ระนอง มหาสารคาม ชุมพร หนองบัวลำภู และสตูล

และจังหวัดที่ปรับขึ้นน้อยที่สุด จำนวน 308 บาท มี 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทั้งหมดนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ทั้งนี้ ภาพรวมในการปรับอยู่ที่ 5 จนถึง 22 บาท และเฉลี่ยอยู่ที่ 315.97 บาท

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นหลักประกันให้กับแรงงาน กระทรวงจะมีการปรับแก้กฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป จัดทำโครงสร้างการปรับขึ้นเงินเดือนทุกปี โดยจะนำร่องใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

ขณะที่ท่าทีของผู้ประกอบการปลัดกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า  มติทั้งหมดนี้เป็นเอกฉันท์ ไม่ได้มีการลงคะแนนแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ ด้วยการลดหย่อนภาษี 1.5 เท่าที่เป็นเงินในส่วนจ่ายค่าจ้าง  โดยหลังจากการปรับอัตราค่าจ้างทั่วประเทศที่จะมีผลในวันที่ 1 เมษายน 2561 ที่จะถึงนี้ หลายฝ่ายก็มีความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้า ที่คาดการณ์ว่าอาจจะปรับตัวขึ้นตาม ซึ่งเรื่องนี้คงต้องติดตามไปยังกระทรวงพาณิชย์ ว่าจะมีมาตรการใดๆ ออกมาเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่