ประชุม JC ชี้วัดบรรยากาศค้าขายอาเซียน ไทย-จีน จับมือ สานศก.สู่ CLMV

แน่นแฟ้น ไทย-จีน บรรลุความสัมพันธ์ เตรียมจัด การประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจไทย-จีน) ครั้งที่ 6

Advertisement

การหารือระหว่างไทยและจีนเกี่ยวกับการสานความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซีัยน ในครั้งนี้ มีนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางเกา เยี่ยน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หารือร่วมกัน เมื่อ ณ โรงแรมแชงกรี-ล่า กรุงเทพมหานคร

 

โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นต่างๆ เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 (ระดับรองนายกรัฐมนตรี) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2561    ซึ่งเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในทุกด้าน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงนโยบาย Belt and Road Initiative ของจีน กับนโยบาย Thailand 4.0 ของไทย และการเชื่อมโยงโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกับโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง และ Greater Bay Area (GBA)  นอกจากนั้น ไทยยังยินดีเป็นตัวกลางและแสดงบทบาทนำในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจจีนกับ CLMV โดยไทยสามารถเป็นศูนย์กลางในการดำเนินความร่วมมือต่างๆ ตามระเบียงเศรษฐกิจ “จีน-อินโดจีน” ภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน อาทิ การเชื่อมโยงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การขนส่ง โลจิสติกส์ การยกระดับห่วงโซ่มูลค่าในภาคการผลิต เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับการเยือนไทยของนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐจีน ประกอบด้วย การประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 การเข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย การเยี่ยมชมโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของจีน การสัมมนาสำหรับภาคธุรกิจ และการจับคู่ทางธุรกิจ

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ไทย)

นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นการแก้ไขปัญหาทางการค้าสินค้าเกษตร อาทิ การเร่งรัดการนำเข้าข้าวและยางพาราภายใต้ MOU ที่ได้ตกลงกันไว้ การเร่งรัดให้สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคของจีน (AQSIQ) เร่งมาตรวจสอบกระบวนการผลิตรังนกแดงและโรงงานผลิตและแปรรูปข้าวไทยโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ผลิตและแปรรูปรังนกและข้าวไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสามารถส่งออกสินค้าไปขายในจีนได้ ไทยเสนอให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทยโดยตรง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการร่วมลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพาราในประเทศไทย ระหว่างนักลงทุนจีนกับการยางแห่งประเทศไทยด้วย พร้อมหารือเกี่ยวกับช่องทางการส่งออกลำไยไทยไปยังตลาดจีน นอกจากนั้น ยังได้เร่งรัดให้จีนดำเนินการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับสินค้าไทย 3 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง และมะขามหวานเพชรบูรณ์ อีกด้วย

นางเกา เยี่ยน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะ

ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 15 และแหล่งนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2559 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 65.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2560 (ม.ค.-พ.ย.) การค้ารวมระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 67 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น ไทยและจีนได้ตั้งเป้าหมายการค้าสองฝ่ายให้มีการขยายตัวเป็นสองเท่า หรือ 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 นอกจากนี้ จีนยังเป็นนักลงทุนทางตรงอันดับที่ 3 ของไทย ในปี 2560 (มกราคม-กันยายน) นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยมีมูลค่า 385 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการท่องเที่ยวมีชาวจีนเดินทางมาประเทศไทย 9.8 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา