กลุ่มเยาวชน องค์กรสตรี ขอพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย ไร้คุกคามทางเพศจากกทม.

กลุ่มเยาวชน องค์กรสตรี วอนกทม. คุมเข้มสงกรานต์ หยุดลวนลาม อนาจาร คุกคามทางเพศ ย้ำกทม.ทำสงกรานต์ปลอดภัย ไม่เมา ไม่ซิ่ง ไม่รุนแรง มีจุดร้องเรียนในพื้นที่เล่นน้ำ ปลุกประชาชนเคารพกฎจราจร

Advertisement

นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วย เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า แกนนำผู้หญิง พ่อแม่ผู้ปกครอง 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผ่านทาง นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม. เพื่อเรียกร้องให้ กทม. ตอกย้ำมาตรการคุมเข้มแก้ปัญหาการถูกลวนลาม คุกคามทางเพศ พื้นที่เล่นน้ำไม่ปลอดภัย ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

นางสาวจรีย์ กล่าวว่า แม้ในสองถึงสามปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้พยายามที่จะสื่อสาร รณรงค์ในประเด็นดังกล่าวมาบ้างแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดและพฤติกรรมที่ถูกเพิกเฉย ละเลยมานาน ทำให้เป้าหมายในการเคารพในเนื้อตัวร่างกาย การให้เกียรติกัน ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม คุกคามทางเพศ และปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังไปไม่ถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริง ในปีนี้มูลนิธิฯและภาคีเครือข่าย จึงมีข้อเสนอเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการลวนลามทางเพศช่วงสงกรานต์ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ดังนี้ 1.ขอให้กรุงเทพมหานคร รณรงค์เพื่อยุติการลวนลาม คุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เยาวชน เด็ก รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยควรมีการประชาสัมพันธ์กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง 2.ขอให้มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกคุกคามทางเพศ2.ขอให้มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกคุกคามทางเพศ ตลอดจนปัญหาการทะเลาะวิวาท การลักขโมยในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์เพื่อระงับเหตุ และบังคับใช้กฎหมายได้ทันท่วงที และ 3.ขอให้มีการเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมาย 3.ขอให้มีการเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่เล่นน้ำทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ รวมถึงการจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตหรืองานอีเว้นท์ต่างๆ ที่มักจะพบว่ามีการทำผิดกฎหมายควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนเกิดพฤติกรรมการเมาแล้วขับหลังจากงานเหล่านี้

อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าว ถือเป็นการช่วยเหลือผู้หญิงไม่ให้ถูกคุกคามทางเพศ และเพื่อใช้เป็นกลไกสร้างค่านิยมใหม่ทำให้สงกรานต์ปลอดจากการฉวยโอกาส อนาจาร ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และหวังว่า กทม. จะเห็นความสำคัญกับปัญหานี้

ด้านนางสาวปาลิณี ต่างสี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า ต้องขอบคุณกรุงเทพมหานครที่ได้พยายามสื่อสารถึงปัญหาการลวนลาม คุกคามทางเพศในพื้นที่เล่นน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตลอดจนการกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถือได้ว่าว่ามาถูกทางแล้ว แต่จากการเฝ้าระวังยังพบความพยายามแหกกฎ ไม่เคารพกติกาของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ที่คึกคะนอง ทั้งพฤติกรรมแอบขายแอบดื่ม จึงอยากเรียกร้องกับทุกคนที่มาเล่นน้ำสงกรานต์ งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิง และพ่อค้าแม่ขายเองก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย เพราะหากถูกจับดำเนินคดีตามกฎหมายมันจะได้ไม่คุ้มเสีย และที่สำคัญ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการมึนเมานั้น มันประเมินค่ามิได้ ที่สำคัญบริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย ควรแสดงความรับผิดชอบสังคมด้วยการปฏิบัติตามกฎหมาย และจะดียิ่งหากประกาศให้กิจกรรม อีเว้นท์ ต่างๆช่วงสงกรานต์ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งตรงนี้จะลดความสูญเสียบาดเจ็บล้มตายลงได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ จากการสำรวจทัศนคติผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์เมื่อ 2559 จากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 1,793 ราย อายุระหว่าง 10-40 ปี พบว่าเกือบทั้งหมดหรือ %85.9 เห็นว่าไม่ควรฉวยโอกาสลวนลามในช่วงสงกรานต์และควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน รวมทั้งยังพบกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง คือ 51.9% เคยถูกฉวยโอกาสถูกลวนลามคุกคามทางเพศ เมื่อถามถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เคยเจอบ่อยที่สุดคือ ถูกฉวยโอกาสคุกคามทางเพศ ถูกก่อกวนจากคนเมาสุรา บังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาการทะเลาะวิวาท เป็นต้น เมื่อพิจารณาในกลุ่มวัยรุ่นชายกับปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศ ในปี 2556 พบข้อมูลที่น่าตกใจว่าร้อยละ 43 มองว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นเทศกาลแห่งโอกาสใครๆก็ทำกัน โดยไม่ต้องสนใจกฎหมาย ซึ่งจุดนี้น่าเป็นห่วงยิ่ง ที่สำคัญจะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าวปัจจัยกระตุ้นหลักยังคงเป็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ขณะที่นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะตัวแทนผู้รับมอบหนังสือร้องเรียน บอกว่า กทม.ได้ตั้งจุดรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นประจำทุกปี และปีนี้ได้สั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตสำรวจพื้นที่เล่นน้ำในช่วงสงกรานต์ พร้อมตั้งจุดตรวจทุกจุดเพื่อความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม กทม. ไม่สามารถรักษาความปลอดภัยได้เพียงฝ่ายเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนด้วย