ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ทางคณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปได้เคยประเมินตัวเลขจีดีพีและตัวเลขเศรษฐกิจของไทยปี พ.ศ. 2561 ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี พ.ศ. 2561 จะอยู่ที่ 4.1-4.7% อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นมาอยู่ที่1.0-1.5% อัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 6-8% จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก โดยตั้งข้อสังเกตว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน ยังไม่กระจายตัวมายังเศรษฐกิจฐานรากมากนัก และโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่ได้มีการแปรเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญจึงยังทำให้ปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่งยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไป
ตัวเลขเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการลงทุนอาจไม่ดีอย่างที่คาดการณ์ไว้เดิมหากเลื่อนการเลือกตั้งและมีการสืบทอดอำนาจของ คสช จากสัญญาณการเซ็ทซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองผ่านคำสั่ง คสช 53/2560 จำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองอย่างใกล้ชิดเพื่อทำการประเมินเศรษฐกิจไทยใหม่ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนหลังเดือนเมษายน
การไม่ยึดหลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ สร้างความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้งทำให้การเลือกตั้งขาดความน่าเชื่อถือ อาจนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหม่ได้ อาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างฝ่ายสนับสนุน คสช ให้สืบทอดอำนาจ และ ฝ่ายยึดถือหลักการประชาธิปไตย หวั่นเหตุการณ์ซ้ำรอยเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 กระทบเศรษฐกิจไทยภาพรวมโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชาวบ้าน และ ภาคการลงทุนอาจได้รับผลกระทบรุนแรง ชี้หลังการรัฐประหาร รสช 23 ก.พ. 2534 ตามด้วยเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านการสืบทอดอำนาจ รสช จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 หลังจากนั้นไทยก็ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองมีรัฐบาลมากถึง 6 รัฐบาล (คณะรัฐมนตรีมากกว่า 10 ชุด) ในช่วงเวลาสี่ปีกว่าๆ อายุเฉลี่ยรัฐบาลไม่ถึงหนึ่งปี และเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งที่นำมาสู่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540 นอกเหนือจากปัญหาพื้นฐานเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง การไม่ปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน การก่อหนี้ต่างประเทศและการลงทุนเกินตัว รวมทั้งภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความไม่ต่อเนื่องของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและความอ่อนแอและไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาลผสมเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่ซ้ำเติมวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ให้รุนแรงยิ่งขึ้น แต่วิกฤตินี้ก็ได้ทำให้เกิดโอกาสและแรงกดดันให้การปฏิรูปทางการเมืองและนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540