สทน. ตั้งเป้าเป็นเครือข่ายด้านอาหารปลอดภัย เผยจุดแข็งเทคโนโลยีไอโซโทปพิสูจน์ชัดแหล่งที่มาของอาหารและวัตถุดิบว่ามาจากแหล่งใด
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า เป้าหมายหนึ่งของการพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหารหรือ ฟู้ดอินโนโพลิส คือ ความปลอดภัยและความมั่นคงของอาหาร กล่าวคือ ประชาชนต้องบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของอาหาร และมีความเพียงพอสำหรับทุกคน นอกจากนี้ยังสามารถส่งออกและแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าให้กับอาหารจึงมีความจำเป็นเร่งด่วน
เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า จุดแข็งของประเทศไทยคือ มีความพร้อมทางด้านบุคลากรวิจัยด้านอาหารและโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนห้องปฏิบัติการวิจัยที่เข้มแข็งสามารถเป็นฮับของอาเซียนได้ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารในระดับโลกอีก 7-8 พันบริษัท มีเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพด้านอาหารอีกหลายหมื่นราย การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจึงเป็นเรื่องที่โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารให้ความสำคัญและสนับสนุน ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกันเพื่อทำดรรชนีทางด้านอาหาร เพื่อตอบโจทย์ความพร้อมของประเทศไทยทั้งด้านวัตถุดิบ และห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลกในอนาคต
ด้าน ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการของ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายของฟู้ดอินโนโพลิส ในส่วนของ สทน. นั้น นอกจากจะมีการวิจัยและพัฒนาด้านนิวเคลียร์ที่มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เป็นที่เดียวในประเทศไทย ที่สามารถผลิตรังสีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น นิวตรอน แกมมา ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืช อย่างข้าวพันธุ์ กข. ต่าง ๆ ก็ใช้รังสีในการปรับปรุงพันธุ์ หรือการปรับปรุงคุณภาพของอัญมณี การใช้รังสีทางด้านการตรวจสอบโบราณคดีในลักษณะที่ไม่ทำลายวัตถุโบราณ ตลอดจนการวิเคราะหฺ์ธาตุต่างๆ ในชิ้นส่วนต่างๆ โดยการใช้เทคนิคทางนิวเคลียร์ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบวิเคราะห์แหล่งที่มาและการปนเปื้อนของอาหารได้ ในพื้นที่บริเวณเทคโนธานี ที่คลองห้า นั้นจะเป็นโรงงานอาหารฉายรังสีด้วยโคบอลท์ 60 เพื่อยืดอายุการเก็บผักผลไม้ และสมุนไพร และกำลังจะมีโรงงานผลิตนิวตรอนเพื่อการฉายรังสีอาหารในอนาคตอันใกล้นี้ ในส่วนของพื้นที่หลักที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก นั้น จะมีเครื่องผลิตไซโครตรอนที่มีประสิทธิภาพที่แตกต่างจากอิเลคตรอนทำให้สามารถประยุกต์ใช้รังสีดังกล่าวในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยา อาหาร การเกษตร เป็นต้น
“สทน. เองมีความพร้อมสูงในการร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร เพราะเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ที่ สทน. มีนั้น จะช่วยสนับสนุนนวัตกรรมอาหารของประเทศได้เป็นอย่างดี เช่นหลายๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็น สหรัฐ ออสเตรเลีย จะกำหนดว่าการส่งผัก ผลไม้ นั้น จะต้องผ่านการฉายรังสีเพื่อทำลายโรคและแมลงที่อาจจะปนเปื้อนมากับสินค้าดังกล่าว รวมทั้งการฉายรัวสีสมุนไพรเพื่อทำให้มีความปลอดภัยของสมุนไพรมากขึ้น และในปัจจุบันมีเอกชนหลายรายที่ได้มาใช้บริการของการฉายรังสีแล้ว เนื่องจากเป็นการฆ่าเชื้อที่ไม่ก่อให้เกิดความร้อน ทำให้รักษาคุณภาพและสาระสำคัญของสมุนไพรต่าง ๆ ไว้ได้เป็นอย่างดี” ดร.อัครวิทย์ กล่าว
ในส่วนของ สทน. ยังมีห้องปฏิบัติการด้านชีววิทยาและจุลชีววิทยาเพื่อศึกษาผลของการฆ่าเชื้อด้วยรังสีอย่างสมบูรณ์แบบ และเพื่อเป็นการศึกษาว่าการฉายรังสีมีผลกระทบต่อโครงสร้างหรือองค์ประกอบของอาหารหรือไม่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนที่ผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด นอกจากนี้ สทน. ยังมีเทคนิคที่ช่วยในการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบว่าผลิตจากแหล่งใด เป็นพันธุ์แท้ต้นตำรับ หรือเป็นเพียงพันธุ์เดียวกันที่ปลูกต่างพื้นที่ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถ ตรวจสอบจากปริมาณและสัดส่วนของสารกัมมันตรังสีจากแต่ละแหล่งนั้นแตกต่างกันไป และยังช่วยบ่งบอกถึงการปลอมปนของอาหารได้อีกด้วยว่ามีการเติมอะไรลงไปหรือไม่ เช่นในกรณีของน้ำผลไม้ หรือ น้ำมะพร้าวที่กำลังเป็นที่นิยมมาก ทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยการวิเคราะห์โดยเทคนิคทางนิวเคลียร์ ทาง สทน.ยังพัฒนาเทคโนโลยีในการกำจัดแมลงวันทองซึ่งเป็นสาเหตุของการเน่าเสียของผลไม้ในเมืองร้อนหลายชนิด ทำให้เกิดการเป็นหมันของแมลงวันทอง และลดการใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้อาหารมีความปอดภัยมากยิ่งขึ้น