สช.ปลื้มจิตอาสาสระแก้วใช้GISเก็บข้อมูลผู้ด้อยโอกาส

นายสุรพงษ์ พรหมเท้า รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในโอกาสที่พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ จังหวัดสระแก้ว ชมผลงาน “โครงการพัฒนากลไกสนับสนุนเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐ จังหวัดสระแก้ว”ด้วยการดำเนินงานของจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคมสุขภาวะว่า  ก่อนหน้านี้ในการลงพื้นที่ จังหวัดพังงา เป็นการ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เห็นการทำงานของจิตอาสาประขารัฐที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัด คือ กลุ่มเครือข่ายจิตอาสาในพื้นที่ สามารถนำความช่วยเหลือมายังพื้นที่ของตนเองได้อย่างเข้าถึง เข้าใจ และทันท่วงที

Advertisement

สำหรับการลงพื้นที่ในจังหวัดสระแก้ว ทำให้ได้เห็นการนำเอานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่จิตอาสาประชารัฐนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GeographicInformationSystem:GIS) มาปรับใช้รวมกับระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก(Global Positioning System:GPS) ในการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ

“นโยบายจิตอาสาประชารัฐนั้นเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อให้ภาคสังคมได้มีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา  การนำเอานวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมก็เป็นส่วนหนึ่ง  การทำงานของพวกเราไม่ได้ทำเพื่อกดดันภาครัฐหรือขัดแย้งกับภาครัฐ  แต่เป็นการทำงานเพื่อช่วยเหลือพวกเรากันเอง  ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”นายสุรพงษ์กล่าว

นายปรมินทร์ จันทรกาลประธานศูนย์ภาคีเครือข่ายพัฒนาจังหวัดสระแก้ว (ศปจ)กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของจังหวัดสระแก้ว คือ ส่งเสริมให้คนในพื้นที่มีแผนพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ส่งเสริมอาชีพ และการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ผลักดันนโยบายชุมชน และการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ( ธรรมนูญตำบล ) การสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันกับท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง (รูปแบบสภาพลเมือง) คลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐ กับภาคประชาชน และการพัฒนาเครือข่ายการแก้ไขปัญหาชุมชน ซึ่งภายหลังที่มีโครงการจิตอาสาประชารัฐ ซึ่งเป็นกลไกการทำงานของ สช. ทางคณะทำงานจิตอาสา ก็ได้มีการลงไปเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆของประชากรที่มีความเป็นระบบมากขึ้น โดยเก็บข้อมูลพื้นฐาน เพื่อวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาของจังหวัดด้านต่างๆ พบปัญหาหลากหลาย อาทิ ปัญหาหนี้สิน ไม่มีที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่ดินทับซ้อนการศึกษาต่ำ ไม่มีคุณภาพขาดน้ำทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งแรงงานต่างด้าว เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ การดำเนินงานในรูปแบบอาสาประชารัฐ โดยทีมสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบ GISจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาจังหวัด และช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความชัดเจนตลอดจนสามารถร่วมกันตรวจสอบข้อมูลร่วมกัน นำไปสู่ระบบที่สร้างความเชื่อมั่นในการทำฐานข้อมูล วางแนวทางในการแก้ไขปัญหา อุปสรรคของหมู่บ้านนั้นๆ ได้ สามารถดูแลหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดได้ประโยชน์ในการดูแลพื้นที่ได้ตรงต่อความต้องการของชุมชนสาธารณะส่วนรวมโดย การทำงานของระบบ จะเก็บข้อมูลในด้านต่างๆ ประกอบด้วย การบริหารการปกครอง – เขตการปกครองต่าง ๆ ลักษณะภูมิประเทศ – ความสูง ความลาดเอียง ปริมาณน้ำฝน สถานีตรวจวัดอากาศ  แหล่งน้ำ – แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ จุดเก็บน้ำ ตำแหน่ง/คุณภาพน้ำบาดาล ทรัพยากรแร่ธาตุและธรณีวิทยา – แหล่งแร่ ชนิดแร่ โครงสร้างทางธรณีวิทยา ของแหล่งน้ำใต้ดิน ทรัพยากรดิน – แผนที่ดิน ดินเค็ม ดินเปรี้ยว การจัดที่ดิน ทรัพยากรป่าไม้ – แผนที่ป่าไม้ต่าง ๆ การใช้ที่ดิน – การจำแนกการใช้ที่ดินประเภทต่าง ๆ ผังเมืองรวม ผังเมืองเฉพาะ แนวโน้มการใช้ที่ดินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนการบริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ

ทั้งนี้ ระบบจะทำการวิเคราะห์ผลด้วยระบบฐานข้อมูล   โดยกำหนดเงื่อนไขและแสดงผลได้ทั้งภาพ กราฟฟิค แผนที่และรายงาน ซึ่งสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการ  แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการวางแผนการใช้ทรัพยากรเชิงพื้นที่ได้