เอกชนจี้รัฐหาจุดร่วมชัดเจน พรบ.แอลกอฮอล์

สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยเผย ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือเพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งจะช่วยแก้ไขและลดทอนปัญหานักดื่มก่อนวัย อุบัติเหตุบนท้องถนน และปัญหาสังคมที่เกิดจากแอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด แนะภาครัฐควรรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และปรับปรุงกฎหมายให้มีความเป็นสากล แก้ไขปัญหาการตีความที่คลุมเครือ ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม และส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของแอลกอฮอล์กับประชาชน

Advertisement

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA กล่าวว่า “พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.  2551 ยังมีบางประเด็นที่ภาครัฐและเอกชนควรหารือร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย ที่ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมเรื่อยมาว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ในฐานะตัวแทนผู้ผลิตที่มีพันธกิจส่งเสริมการทำการตลาดและสื่อสารเกี่ยวกับธุรกิจแอลกอฮอล์อย่างมีจรรยาบรรณ และรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งหวังที่จะร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาชนในการบังคับใช้ตัวบทกฎหมายอย่างเป็นธรรมและตอบโจทย์ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตราย หรือ Harmful Use of Alcohol ในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน อีกทั้งส่งเสริมลดอัตราการดื่มที่เป็นอันตรายทั่วโลก ร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2568 ตามกรอบขององค์การอนามัยโลก (WHO)”

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ยังมีความคลุมเครือในบางประเด็น และพึ่งพิงการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานมากเกินไป จึงขาดแนวทางในการปฏิบัติที่แน่นอน ทั้งยังเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ที่อาจสร้างแรงจูงใจทางอ้อมให้เกิดการตีความอย่างไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากเงินสินบนรางวัล ในขณะเดียวกันภาคประชาชนได้ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวมีเนื้อหารสาระที่ดี แต่ขาดความชัดเจนในการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สร้างความสับสนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ และส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อภาคธุรกิจและท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 มีปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวม 2,864 ล้านลิตร เติบโตจากปีก่อนหน้า 0.6% และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่ 3,088 ล้านลิตร โตขึ้น 7.8% นอกจากนี้ แนวโน้มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้มีกฎหมายออกมา สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีพฤติกรรมและธรรมเนียมการดื่มและเฉลิมฉลอง โดยอยู่ในอัตราที่เหมาะสม ไม่ได้มากจนเกินไป

ประเด็นสำคัญคือ ผลสำรวจขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปีทั่วโลก ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 72 ต่างจากความเชื่อที่ว่าประเทศไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และจากผลสำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังพบว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วราชอาณาจักร มีสาเหตุหลักจากการขาดวินัยจราจร ในขณะที่การเมาสุราเป็นสาเหตุลำดับที่ 7 สะท้อนให้เห็นแอลกอฮอล์ไม่ใช่ปัญหาหลักทางสังคม โดยเฉพาะเมาแล้วขับ และการใช้พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนในภาพรวมได้

เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาครัฐจึงควรรับฟังความคิดเห็นของภาคธุรกิจและประชาชน เพื่อสร้างมาตรฐานและความเข้าใจร่วมกัน และส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ในการลดจำนวนการดื่มอย่างเป็นอันตรายที่ร้อยละ 10 โดยประมาณ ภายในปี พ.ศ. 2568

“ทางสมาคมฯ จึงขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาประเด็นดังกล่าว เพื่อปรับปรุงพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้มีความชัดเจน ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ สอดคล้องกับหลักสากล พร้อมทั้งร่วมกันแสวงหาความกระจ่างชัดในการตีความที่ถูกต้องตามเจตนารมย์ของกฎหมาย และขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม พร้อมให้ความรู้ต่อสังคมอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับโทษของการดื่มอย่างเป็นอันตราย ที่จะช่วยควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างครอบคลุมต่อไป” นายธนากร กล่าวสรุป