DE.เตือนผู้บริโภคเช็คเครดิตสินค้าออนไลน์ก่อนเป็นเหยื่อ!!

กระทรวงดิจิทัลฯ ชี้แจงกรณีมีผู้เสียหายอ้างโดนมิจฉาชีพหลอกโอนเงินหลังการชนะประมูลสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าไม่ใช่การทำผ่านธุรกรรมออนไลน์ แต่เป็นการเจรจาซื้อขายกันโดยตรงผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ เตือนประชาชนควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขาย ก่อนตกเป็นเหยื่อกลุ่มมิจฉาชีพ

Advertisement

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Phiminun Aowsakul” เข้าไปประมูลแหวนเพชร ราคา 390,000 บาท ผ่านเพจร้านขายส่งเพชรแห่งหนึ่ง และสามารถชนะการประมูลในราคา 120,000 บาท โดยมีเฟซบุ๊กชื่อ มาดาม” เป็นผู้ไลฟ์สดขณะทำการประมูล โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวได้ให้ผู้ที่ชนะการประมูลแจ้งชื่อไปทางกล่องข้อความ (Inbox) เพื่อจะให้พนักงานแจ้งเลขที่บัญชีกลับ ซึ่งต่อมาได้มีข้อความจากเฟซบุ๊กที่มีชื่อและรูปเช่นเดียวกับไลฟ์สดที่ประมูลแหวนเพชรเข้ามาติดต่อ พร้อมกับแจ้งเลขที่บัญชีปลายทางให้ทำการโอนเงิน แต่ไม่สามารถโอนได้ ผู้ที่ประมูลเพชรได้จึงแจ้งกลับไปทางกล่องข้อความ(Inbox) ซึ่งเฟซบุ๊กที่ทำการไลฟ์สดดังกล่าว ได้แจ้งเลขที่บัญชีใหม่จึงสามารถโอนได้ จากนั้น 1 ชั่วโมงต่อมา พนักงานของเพจร้านขายส่งเพชรที่เปิดประมูลได้ส่งเลขที่บัญชีธนาคารมาให้ ผู้ที่ชนะการประมูลจึงทราบว่าถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกโอนเงินไปแล้ว

“จากกรณีดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า กรณีนี้มิใช่การทำผ่านระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ธุรกรรมออนไลน์) แต่เป็นการเจรจาติดต่อซื้อขายกันโดยตรงผ่านเฟซบุ๊กระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งต่อมาเกิดการฉ้อโกงโดยมีผู้แอบอ้างว่าเป็นผู้ขายและหลอกให้โอนเงิน แต่ยังไม่อาจทราบได้ว่าเป็นการหลอกลวงในรูปแบบขบวนการ หรือเป็นการสวมรอยโดยมิจฉาชีพ อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ขอย้ำเตือนประชาชนในการซื้อขายหรือการทำธุรกรรมใดๆ ผู้ซื้อควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของตลาดกลางหรือผู้ขายก่อน เช่น มีการลงทะเบียนยืนยันตัวตนผู้ซื้อผู้ขายที่ชัดเจนหรือไม่ และควรหลีกเลี่ยงการประมูลผ่านช่องทางที่ไม่น่าเชื่อถือ สำหรับกรณีดังกล่าว พิจารณาแล้วอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไขเพิ่มเติม) โดยผู้เสียหายสามารถร้องเรียนแจ้งให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดโดยดำเนินการจัดเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเลขบัญชีที่ทำการโอนเงินไปเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” น.อ.สมศักดิ์ฯ กล่าว

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นภัยต่อสังคมมาโดยตลอด และหากหน่วยงานหรือประชาชนตรวจพบก็สามารถร่วมรายงานได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถกระทำได้เพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าว