โรงงานยาสูบ เสนอคลังทบทวนภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ หลังพบมีบุหรี่ต่างประเทศบางยี่ห้อใช้ช่องโหว่กฎหมายลดราคาทุ่มตลาดลง ขณะที่บุหรี่ไทยกลับต้องขายราคาแพงขึ้นจากภาระภาษี อาจทำให้บุหรี่ขาดคุณภาพยาเส้นเต็มตลาด
นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการยาสูบ พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบ ร่วมกันแถลงถึงผลกระทบจาก พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ว่า ต้องการเสนอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวน ประกาศกระทรวงเกี่ยวกับโครงสร้างอัตราภาษี ใน พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ใหม่ และศึกษาผลกระทบรอบด้าน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ เพราะหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมกับการค้าบุหรี่ในไทย ซึ่งทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ร้านค้ายาสูบ และโรงงานยาสูบเองได้รับผลกระทบ รวมทั้งการนำส่งเงินเข้าคลัง
เพราะโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ฉบับใหม่ เปลี่ยนจากเดิม ที่เก็บภาษี 9 เท่าของราคาหน้าโรงงาน หรือราคาสำแดงนำเข้า หรือ CIF มาเป็นการคำนวณภาษีจากปริมาณ และมูลค่าแทน ทำให้เกิดช่องว่างให้บุหรี่นำเข้าบางตราลดราคาขายลง เพราะมีภาระภาษีที่ลดลง เช่น บุหรี่ตรา L&M ขนาด 7.1 เดิมมีภาระภาษีสรรพสามิต 45 บาท แต่เมื่อบังคับใช้โครงสร้างภาษีใหม่ กลับมีภาระภาษีเหลือเพียง 35บาท 21 สตางค์ หรือลดลงร้อยละ 21.76 ทำให้ราคาขายปลีกลดลงจาก 72 บาทต่อซอง ลงเหลือ 60 บาทต่อซอง
ขณะที่บุหรี่ไทย ซึ่งส่วนมาก เป็นบุหรี่ที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบเอง กลับมีภาระภาษีมากขึ้นทั้งหมด เช่น กรองทิพย์ จากเดิมมีภาระภาษี 53 บาท 82 สตางค์ หลังใช้โครงสร้างภาษีใหม่ มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 59บาท 51 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ10.57 ราคาขายปลีกจึงแพงขึ้น จากซอง 86 บาท เป็นซองละ 95 บาท ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนจากบริโภคบุหรี่ในประเทศ เป็นบุหรี่ต่างประเทศแทน ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพหรือทำให้จำนวนผู้สูบลดลง แต่กลับทำให้ยอดขายบุหรี่ในประเทศลดลง โดยคาดว่าปี 2561 จะมียอดขายบุหรี่เหลือเพียง 17,000 ล้านมวน และปี 2562 จะลดลงเหลือ 8,5000 ล้านมวน ลดลงจากปี 2560 ที่จำหน่ายได้ 28,000 ล้านมวน ซึ่งหากปล่อยไว้นาน สุดท้ายจะทำให้บุหรี่ต่างประเทศครอบงำ ครองตลาดในประเทศไทย ส่งผลให้โรงงานยาสูบ รวมถึงร้านค้า และเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบไม่สามารถอยู่ได้ เพราะปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดของโรงงานยาสูบลดลง เหลือร้อยละ 65.92 จากเดิมร้อยละ 80ในปีที่แล้ว ขณะที่บุหรี่ต่างประเทศมีส่วนแบ่งตลาด เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.53
ยอมรับว่า กม. ดังกล่าวมีช่องโหว่ เปิดทางให้เอกชนรายใหญ่ต่างชาติ ใช้เทคนิกการตลาด นำภาระภาษีแบรนด์พีเมี่ยม Marboro ลดลง มาช่วยชดเชยให้ยี่ห้อ L&M จึงขายบุหรี่ทั้งสองยี่ห้อในราคาลดลง สวนทางกับโรงงานยาสูบปรับราคาเพราะภาษีเพิ่ม
เพียงช่วง 1 เดือนกฏหมายบังคับใช้ได้ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดถูกต่างชาติแย่งไปจากร้อยละ 80 ลดเหลือร้อยละ 65.92 แนวโน้มจะลดลงต่อไปอีก อีกทั้งยังผลักดันให้คนหันไปสูบยาเส้นไม่ปรุง เพราะภาษี 30-40 สตางค์ต่อกรัม แทบจะไม่เสียภาษี จึงเสนอให้คลังหาแนวทางช่วยเหลือ ทั้งเรื่องการทุ่มตลาด และทบทวนกฏกระทรวงอัตราภาษี และความไม่ชัดเจนในการตั้งราคาเนื่องจากสรรพสามิตพูดมาตลอดเวลาว่ากฏหมายใหม่จะไม่ทำให้ รยส. ได้รับผลกระทบ
ขณะเดียวกันรัฐจะเสียรายได้จากเงินนำส่งของโรงงานยาสูบ ที่ต้องนำส่งรัฐร้อยละ 88 ของกำไรในแต่ละปี จากปี2560 ที่นำส่งรัฐกว่า 8,000 ล้านบาท กลับไม่มีเงินนำส่งเข้าภาครัฐในปี 2561 นอกจากนี้รัฐเองยังจะสูญเสียรายได้จากเงินนำส่งรัฐในรูปแบบภาษีต่างๆ จากการบังคับใช้ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ รวมมูลค่ากว่า 12,725 ล้านบาท