“น่านนคร” ผุด GREEN HOTEL สร้างมาตรฐานใหม่ให้ธุรกิจท่องเที่ยว

SME Development Bank เดินหน้านโยบาย 4.0 ปลุกกระแสท่องเที่ยวด้วยมาตรฐาน “GREEN HOTEL” พร้อมมอบสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการจังหวัดน่าน วงเงินทะลุ 100 ล้านบาท เป็นจังหวัดแรก

Advertisement

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) เปิดเผยถึงการจัดงานพัฒนาผู้ประกอบการ SME-D น่านนคร ซึ่งถือเป็นการสานต่อพันธกิจของธนาคารด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ที่มุ่งเน้นเขตพื้นที่ภูมิภาค  โดยภายในงานได้รวบรวมกิจกรรมเติมเต็มองค์ความรู้  การเข้าถึงแหล่งทุน  และพิธีมอบสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ  จำนวน 34 ราย  วงเงิน 145.09 ล้านบาท

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ SME BANK

“จังหวัดน่าน ถือเป็นจังหวัดเป้าหมายในการพัฒนาอันดับต้นๆ โดยเฉพาะการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวแบบครบวงจร ตามนโยบาย SME Development Bank 4.0 โดยใช้จังหวัดน่านเป็นต้นแบบในการยกระดับรายได้ จากการท่องเที่ยวแล้วนำผลสัมฤทธิ์เป็น Model กลับไปพัฒนาจังหวัดเป้าหมายอื่นๆ  ตามหลักการตลาดแบบเล่าเรื่อง (Story telling) ที่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแหล่งท่องเที่ยว“แพ 500 ไร่” จังหวัดสุราษฎร์ธานี  จนประสบความสำเร็จอย่างมากมาแล้ว  และเนื่องจากจังหวัดน่านมีวัฒนธรรมประเพณีที่เก่าแก่  อยู่ในยุคเดียวกันกับเมืองหลวงพระบาง  แหล่งท่องเที่ยวที่ถูกยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ดังนั้น การยกระดับผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดน่าน จึงมีความสำคัญที่ธนาคารจะต้องเข้ามาส่งเสริมและพัฒนาซึ่งคงไว้ด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยเฉพาะที่พักและโรงแรมให้มีมาตรฐาน “Green Hotel” หรือ มาตรฐานโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจฐานราก” นายมงคล กล่าวเพิ่มเติม

โดยจากข้อมูลพบว่า ปี 2560 นี้ มีโรงแรมที่ผ่านการพิจารณาได้รับมาตรฐาน Green Hotel แล้วกว่า 84 ราย ทุกรายล้วนผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 6 ด้าน คือ 1.สถานประกอบการต้องมีนโยบายด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, 2.สถานประกอบการต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ด้านบริการการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, 3.ประชาสัมพันธ์ข่าวสารพร้อมสร้างความเข้าใจจากกลุ่มเป้าหมาย, 4.การจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมตั้งแต่กระบวนการผลิตที่จะต้องลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, 5.การจัดการพลังงานต้องยั่งยืน ส่วนการกำจัดของเสียต้องไม่กระทบต่อสภาพแวดล้อม และ 6.สถานประกอบการต้องมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นและร่วมกิจกรรมด้านการจัดการทรัพยากรฯ

นอกจากนี้  ภายในงานยังมีพิธีมอบสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ ภายใต้ “กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ” จำนวน 34 ราย วงเงินรวม 145.09 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 103.99 ล้านบาท และสินเชื่อ SMEs Transformation Loan เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ขยายและปรับปรุงกิจการ วงเงิน 41.10 ล้านบาท โดยจังหวัดน่านถือเป็นจังหวัดแรกที่ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อเกิน 100 ล้านบาท และมั่นใจว่าภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 จะมีการอนุมัติสินเชื่ออีกไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท ส่งผลให้ปี 2560 นี้ สาขาน่านสามารถดำเนินการอนุมัติสินเชื่อเป็นไปตามเป้า 180 ล้านบาทอย่างแน่นอน