ว่ากันว่า ปัญหาทางสายตามักจะตามมาเมื่อเข้าสู่วัยที่สูงขึ้น แต่จริงๆ แล้วมีหลากหลายสาเหตุที่อาจทำให้โอกาสมองเห็นของคนเราถดถอยลงไป แพทย์จักษุศัลยกรรมสภากาชาดไทย ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เผยข้อมูลจากการลงพื้นที่โครงการ “เปิดตาดีสู่สังคมไทย” พบ 5 สาเหตุสำคัญ ต้นตอที่ทำให้ผู้สูงวัยไทยเสี่ยงโอกาสตาบอดถาวร หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
แพทย์หญิงอุไรวัลย์ ตินนังวัฒนะ ประธานหน่วยแพทย์จักษุศัลยกรรมสภากาชาดไทย ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า “จากการลงพื้นที่ปฏิบัติงานตั้งแต่เริ่มโครงการตลอดระยะเวลา 22 ปี สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคตาที่ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร พบว่า สถิติกลุ่มผู้ป่วยโรคตามีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ตามสภาวะการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุ อีกทั้งยังพบ 5 สาเหตุสำคัญที่อาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
สาเหตุแรกคือ “เลนส์ตาเสื่อม” ต้นเหตุของโรค “ต้อกระจก” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เพราะเลนส์ตาของเราทุกคนจะค่อยๆ เสื่อมสภาพตามกาลเวลาของช่วงวัย ซึ่งขั้นตอนการรักษาจะใช้วิธีการผ่าตัดใส่เลนส์ตาเทียม ใช้เวลาการผ่าตัด 15-20 นาที พักฟื้นเพียง 2 สัปดาห์ ก็กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
สาเหตุต่อมาคือ “ระบบการไหลเวียนของน้ำในลูกตาผิดปกติ” ตั้งแต่กำเนิดซึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือเกิดจากโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน เป็นต้น ทำให้การระบายน้ำออกของลูกตาเกิดการอุดตันและเสื่อมสภาพ ส่งผลให้ความดันลูกตาสูงขึ้นเรื่อยๆ จนไปทำลายเส้นประสาทตา และเกิดเป็น “ต้อหิน” ตามมา ซึ่งวิธีการรักษาจะเป็นการประคับประคองเพื่อไม่ให้ประสาทตาถูกทำลายมากขึ้น และเพื่อคงการมองเห็นที่มีอยู่ให้นานที่สุด ด้วยการลดความดันลูกตา ได้แก่ การใช้ยาหยอดตา การรับประทานยา การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ และการผ่าตัด เป็นต้น”
“ลม-ฝุ่น-แดด” ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดโรคตาอย่าง “ต้อเนื้อ” ปัญหาโรคตาที่พบมากในกลุ่มคนต่างจังหวัดมากกว่าคนในเมืองหลวง ได้แก่ กลุ่มคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นประจำ อาทิ ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ที่ต้องเผชิญกับ ลม ฝุ่น แดด เป็นประจำ โดยเบื้องต้นจะมีอาการระคายเคืองตา มีน้ำตาไหล นำไปสู่อาการตาอักเสบ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาหรือป้องกันที่ถูกวิธี ผลจากการอักเสบก็จะเกิดเป็นแผ่นเนื้องอกจากตาขาวลามเข้าไปในตาดำ ถ้าเป็นมากจะลามเข้าไปจนถึงกลางตาดำปิดรูม่านตา ส่งผลให้การมองเห็นลดลงได้ คนไข้ส่วนใหญ่ที่มารับการรักษามีอาการตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น หมอจะให้ยาไปหยอดและให้แว่นตากันแดด กันลม ส่วนคนที่เป็นมากก็จะทำการผ่าตัดให้
อีกสาเหตุที่น่าเป็นห่วงคือผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ยากไร้และด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร ยัง “ขาดความรู้” ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคตาต่างๆ คิดว่าไม่สามารถรักษาให้หายได้ หรือไม่เคยสังเกตอาการเบื้องต้น เช่น ตาลาย มองเห็นสิ่งของมัวลง หรือเหมือนหยากไย่มาบัง คิดว่าเป็นเพียงอาการปกติของการใช้สายตามากจนเกินไป จึงปล่อยไว้ไม่ตรวจรักษา จนนำไปสู่การเป็นโรคตาต่างๆ และเกิดสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในการช่วยเหลือเพิ่งพาตนเอง
สาเหตุสุดท้ายและเป็นสาเหตุที่สำคัญคือ “ขาดหมอตา” ลงพื้นที่รักษาผู้ป่วยในพื้นที่ที่ห่างไกล เนื่องด้วยจำนวนปริมาณหมอตาที่มีไม่เพียงพอ อีกทั้งยังขาดงบประมาณ ในด้านการจัดหาเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับลงพื้นที่รักษา เพราะกลุ่มผู้ป่วยบางรายอยู่ในขั้นวิกฤตเริ่มมองไม่เห็น บางรายอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลมาก จึงไม่สามารถเดินทางมาพบหมอในตัวเมืองได้
แพทย์หญิงอุไรวัลย์ กล่าวต่อว่า “ทั้ง 5 สาเหตุข้างต้น ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคตาทุกคน ทุกเพศทุกวัย ทุกชนชั้น สามารถสูญเสียการมองเห็นได้ หากไม่ได้รับความรู้และการรักษาอย่างทันท่วงที แต่สำหรับกลุ่มคนเมืองที่อยู่ใกล้หมอตาก็สามารถรักษาได้เร็วกว่ากลุ่มคนพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ และขาดทุนทรัพย์
ดังนั้น โครงการเปิดตาดีสู่สังคมไทย จึงเข้ามามีบทบาท ในการมีส่วนร่วมในการช่วยระดมทุนผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรับการบริจาคจากภาคประชาชน และนำรายได้ทั้งหมดไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการขับเคลื่อน “รถจักษุคลินิกเคลื่อนที่” นำทีมแพทย์ลงพื้นที่ไปตรวจรักษาผู้ป่วยโรคตาที่ด้อยโอกาสทั่วประเทศไทยให้ได้มากที่สุด เพราะยังมีผู้ป่วยกว่าอีกจำนวนมากที่รอการรักษาให้ทันต่อเวลา โดยการลงพื้นที่และการรักษาในแต่ละปี มีค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละกว่า 15 ล้านบาท
ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคสมทบทุนเข้าโครงการเปิดตาดีสู่สังคมไทย สามารถบริจาคได้ที่ www.bigcamera.co.th/beginagain หรือบริจาคผ่านกล่อง “Love Sharing Box” ที่ บิ๊ก คาเมร่า กว่า 230 สาขาทั่วประเทศ และบริจาคตรงผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย เลขที่บัญชี 045-2-62588-8