พัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ เชิงสร้างสรรค์ที่มีอัตลักษณ์ของภูมิภาคสู่สากล4.0

กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าก้าวต่อยุทธศาสตร์การสร้างและพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม จัดโครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ เชิงสร้างสรรค์ที่มี    อัตลักษณ์ของภูมิภาคสู่สากล”  แสดงสินค้า 50 รายการ และจัดกิจกรรมทดสอบตลาด (Market Test) สินค้าต้นแบบ 15 รายการ

Advertisement

ประกอบด้วย 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ของตกแต่ง ของที่ระลึก สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร และอาหารและเครื่องดื่ม ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนคัดสรรคัดเลือกจากผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 3 – 5 ดาว จำนวน 300 ราย จากทั่วประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนในการนำเสนอผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา วัฒนธรรมไทยเข้าสู่ตลาดสากล

โดยได้รับเกียรติจาก นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน  ณ ไล์ฟสไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 สยามพารากอน

นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยว่า “กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตและแข่งขันได้ การสนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อการประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม และการพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร โดยการสนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบธุรกิจการวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ การพัฒนาผู้ประกอบการที่ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ให้มีความยั่งยืน และพัฒนาสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด หรือผู้ซื้อ เป็นความท้าทายที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำธุรกิจส่งออก หรือนำเข้า หรือผู้ที่ทำธุรกิจภายในประเทศ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม รวมถึงวิสาหกิจชุมชนจะต้องเรียนรู้และปรับตัว รองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจ หรือสร้างการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจที่ท้าทายความสำเร็จ  โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้สินค้าที่ผลิตออกมานั้น เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีเอกลักษณ์ มีความแตกต่าง และจุดเด่นของการออกแบบเพื่อดึงดูดลูกค้า ทั้งผลิตภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เหนือคู่แข่ง สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผู้ผลิตสินค้า ใช้จุดแข็งชุมชนทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตและ   ภูมิปัญญา เพื่อเชื่อมโยงสู่ภาคการผลิตและบริการในการสร้างเอกลักษณ์สินค้าเพื่อขยายโอกาสทางการตลาดมากยิ่งขึ้น สามารถยกระดับจากท้องถิ่นไปสู่ระดับประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศได้ในที่สุด

ทั้งนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล จะต้องอาศัยบรรจุภัณฑ์เป็นเสมือนสื่อประชาสัมพันธ์เป็นตัวแทนของผู้ผลิต เพื่อช่วยส่งเสริมให้สินค้าเป็นที่จดจำง่าย ซึ่งจะนำไปสู่การกระจายออกของสินค้าเป็นวงกว้าง ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ OTOP ของไทย ยังไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ด้วยตนเองได้มากนัก เนื่องด้วยปัญหาหลายประการ อาทิ ปัญหาเงินทุน การขาดความรู้ความเข้าใจ ด้านการตลาด ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์

ที่เหมาะสม และได้ละเลยความสำคัญของการพัฒนาด้านเหล่านี้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดลดลง และไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การขยายตัวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีอัตราเพิ่มขึ้น และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่แสดงความจำนงขอรับการบริการ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ยังมีเพิ่มมากอย่างต่อเนื่องเช่นกัน หน่วยงานภาครัฐ จึงจำเป็นที่จะต้องตอบสนองความต้องการและช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการให้บริการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ที่ตรงกับความต้องการของตลาดที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยังได้เผยอีกว่า “สำหรับการจัดงานมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนในการนำเสนอผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา วัฒนธรรมไทยเข้าสู่ตลาดสากล และเพื่อยกระดับการออกแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ผู้ประกอบการ OTOP ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และสร้างเอกลักษณ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของภูมิภาค ส่งเสริมการนำองค์ความรู้งานวิจัย วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของสังคมไทย มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์  บรรจุภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์และมีคุณภาพ อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า โดยในงานได้มีการจัดกิจกรรมทดสอบตลาด (Market Test) สินค้าต้นแบบจำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ จากผู้ประกอบการโดยตรง พร้อมด้วยการจัดแสดงสินค้า 50 รายการ จากผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 3-5 ดาว จาก 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ของตกแต่ง ของที่ระลึก สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร และอาหารและเครื่องดื่ม ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนคัดสรร หรือขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตกลุ่ม A B และ C จำนวน 133 ราย ในแต่ละท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยเข้าร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีการออกบูธจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกว่า 50 ร้านค้า ให้ผู้สนใจได้ร่วมเข้าชมเพื่อแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ต้นแบบเหล่านี้ให้เป็นที่ประจักษ์ และสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้

ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการ 15 ราย ประกอบด้วย1.รดา จังหวัดเชียงใหม่,2.กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิตภัณฑ์ผ้าใยกันชง จังหวัดเชียงใหม่3.หัตถกรรมสแตนเลส บ้านห้วยหวาย จังหวัดกาญจนบุรี,4.กลุ่มอาชีพเปลือกไข่วิจิตรศิลป์ จังหวัดสมุทรปราการ5.กลุ่มจักสานผลิตภัณฑ์หวายและ เถาวัลย์พนาวัลย์ จังหวัดพิจิตร,6.เครื่องเขิน Chakrit Lacqureware จังหวัดเชียงใหม่,

7.กลุ่มวันเพ็ญเงินลายโบราณ จังหวัดสุโขทัย,8.กลุ่มหัตถกรรมชวาวาดกระเป๋าผักตบชวา จังหวัดพะเยา,9.ศุภชัย เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา,10.กลุ่มผ้าไหมลายทอง จังหวัดบุรีรัมย์

11.สมปองผ้าไหม จังหวัดอุบลราชธานี,12.กลุ่มผ้าหมักโคลน เจ้าพระยา จังหวัดสิงห์บุรี, 

  1. กลุ่มเครื่องประดับสานเงินสานทอง จังหวัดสมุทรปราการ,
  2. กลุ่มจิรวรรณเบญจรงค์ จังหวัดนครปฐม
  3. และกลุ่มหัวโขนภูเตศวร จังหวัดสมุทรปราการ

สำหรับผู้สนใจที่ต้องการเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.02-367-8389 แฟกต์ 02-382-2178