สกว.จัดสัมมนาแนวทางการขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศในระดับภูมิภาค หวังสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและนักวิจัยผู้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาโจทย์วิจัยด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ โดยปัจจุบันเป็นรองแค่สิงคโปร์ในอาเซียน
รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า สำนักประสานงานชุดโครงการอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ สกว. ได้จัดสัมมนา “แนวทางการขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) ในระดับภูมิภาค” ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อรับทราบสถานภาพด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมถึงสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและนักวิจัยผู้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาโจทย์วิจัยด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศต่อไป โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยาย ประกอบด้วย คุณคฑา วีณิน ผู้อำนวยการส่วนแผนงานขนส่งสินค้าทางอากาศ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) คุณสนิฎา มานะกิจภิญโญ รองประธานกรรมการ ด้านจัดการสินค้าและขนส่ง บริษัท ลาซาด้า เอ็กเพลส จำกัด (ประเทศไทย) คุณชัยยงค์ เทียนวุฒิชัย นายกสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย (TAFA) คุณเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) และคุณวัลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย
ทั้งนี้การขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นการขนส่งสินค้าที่มีปริมาณน้อยแต่มูลค่ามาก จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการดำเนินงาน และมาตรฐานที่สูงกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ อันเห็นได้จากสัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกซึ่งมีเพียงร้อยละ 1 ของรูปแบบการขนส่งสินค้าอื่น ๆ แต่สร้างรายได้มากถึงร้อยละ 36 คิดเป็นมูลค่าราว 5.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อเงื่อนเวลา ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและยา อุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศนั้น รศ. ดร.พงศ์พันธ์ระบุว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตสูงเป็น 2 เท่าของอัตราการเติบโตในปัจจุบัน หรือประมาณร้อยละ 4.2 ในช่วงปี 2015-2035 จากร้อยละ 2.0 ต่อปี ในช่วงปี 2005-2015 หรือช่วงฟื้นตัวหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ซึ่งหากพิจารณาอัตราการเติบโตตามภูมิภาคจะพบว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเติบโตสูงสุดร้อยละ 5.4 สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่มีอัตราการเติบโตร้อยละ 4.4 ต่อปี จากปี 2015-2016 และครองส่วนแบ่งตลาดโลกสูงสุดร้อยละ 37 โดยมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ 43.4 ล้านเมตริกตันในปี 2015
ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 22 จาก 30 อันดับสูงสุดทั่วโลก มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ 1.23 ล้านเมตริกตัน และหากพิจารณาเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่าไทยอยู่ในอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ ซึ่งมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ 1.88 ล้านเมตริกตันต่อปี แสดงให้เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งในระดับภูมิภาคในอนาคต
ขณะที่แนวทางการขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศในระดับภูมิภาค เมื่อพิจารณาถึงความต้องการในการขนส่งสินค้าทางอากาศของประเทศไทย พบว่ายังมีสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ต่ำเพียงร้อยละ 0.02 ของรูปแบบการขนส่งสินค้าภายในประเทศ และร้อยละ 0.3 ของรูปแบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในปี 2013 ประกอบกับการส่งออกของประเทศไทยส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 71.1 อยู่นอกอาเซียน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการขยายส่วนแบ่งการขนส่งสินค้าทางอากาศ โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าหากสามารถเพิ่มแผนงานขนส่งทางอากาศเพียงร้อยละ 1 จะสามารถเพิ่มรายได้จากการขนส่งสินค้าของประเทศได้มากถึงร้อยละ 6.3
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ จำต้องอาศัยกลไกการพัฒนาในหลายมิติและมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ อันได้แก่ การประยุกต์ใช้คลังข้อมูลระบบคลาวด์ อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) บิ๊กดาต้า เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และระบบการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล (Cargo-XML) เป็นต้น
“การสัมมนาในครั้งนี้ทำให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคฺที่จะนำไปสู่การกำหนดประเด็นวิจัยในการสนับสนุนทุนวิจัยของชุดโครงการอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ สกว. ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศของประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางในระดับภูมิภาคต่อไป” ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. กล่าวสรุป