กนอ.ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมแนวป้องกันน้ำท่วมนิคมฯต่อเนื่อง ล่าสุดที่นิคมฯบางปู จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมเกาะติดสถานการณ์น้ำจากกรมอุตุนิยมวิทยาใกล้ชิด พร้อมยกระดับการเฝ้าระวังเตรียมศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. ตลอด 24 ชั่วโมง ย้ำให้นิคมฯปฏิบัติตามแผนบริหารจัดป้องกันน้ำท่วม อย่างเคร่งครัด การันตรีปีนี้ปริมาณฝนไม่กระทบพื้นที่ผู้ประกอบการ!!
นางสาวกฤตยาพร ทัพภะทัต รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่สำรวจแนวป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ วันนี้ (24 ตุลาคม 2560 ) ว่า
กนอ.ได้ติดตามสถานการณ์พยากรณ์อากาศของ กรมอุตุนิยมวิทยามาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงระหว่างสัปดาห์นี้ 24-28 ตุลาคม 2560 พบว่าในพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑล จะมีปริมาณฝนลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 10 ของพื้นที่เท่านั้น ซึ่งนิคมฯบางปูเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความเสี่ยงที่ต้องเตรียมความพร้อมให้กับนิคมฯที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น กนอ. จึงยกระดับการเฝ้าระวังเช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ โดยการยกระดับเฝ้าระวังของศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. ที่สำนักงานใหญ่ ตลอด 24 ชั่วโมง
รวมทั้งได้ให้นิคมฯปฏิบัติตามแนวทางป้องกันอุทกภัยในเบื้องต้น เช่น เตรียมเครื่องสูบน้ำสำรอง สำรวจรางระบายน้ำให้มีความคล่องตัว และสำรวจความแข็งแรงของเขื่อนป้องกันน้ำท่วมรอบนิคมฯ เป็นต้นซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่ใดภายในนิคมฯได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนนี้แต่อย่างใด
“จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและสำรวจความพร้อมของแนวป้องกันน้ำท่วมในพื้นทีนิคมอุตสาหกรรมบางปูในวันนี้ ที่ผ่านมา เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบน้ำท่วมขังในกรณีที่เกิดฝนตกหนักหนักสะสมจำนวนมาก และปัจจุบันรอบนิคมฯมีชุมชนอาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่เพิ่มขึ้น ทำให้การสูบระบายน้ำออกจะเป็นผลกระทบต่อชุมชนซึ่ง กนอ. จะต้องทำความเข้าใจกับชุมชนในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินให้รับทราบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาและการให้ความช่วยเหลือชุมชน และผู้ประกอบการ” นางสาวกฤตยาพร กล่าว
ทั้งนี้ แผนป้องกันน้ำท่วมของนิคมอุตสาหกรรมบางปู จะใช้รูปแบบการป้องกันที่คล้ายกับพื้นที่นิคมฯ อื่นๆทั่วประเทศ ได้แก่ 1) จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเวรตลอด 24 ชั่วโมง 2) ติดตามข้อมูล ข่าวสาร และพยากรณ์อากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง 3) ให้มีการสื่อสารข้อมูลการตรวจสอบระดับน้ำ/สถานการณ์ของน้ำ รอบนิคมฯให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอย่างสม่ำเสมอ 4) สำรวจและเสริมความมั่นคงแข็งแรง ของคันดินป้องกันน้ำท่วม 5) เตรียมความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม เครื่องสูบน้ำระบายน้ำและเครื่องจักรอุปกรณ์ 6) จัดหาเครื่องสูบน้ำสำรอง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง กระสอบทราย และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน 7) ขุดลอกและพร่องน้ำในลำรางระบายน้ำและบ่อเก็บกักน้ำฝนภายในนิคมฯ โดยระวังไม่ให้กระทบต่อชุมชนใกล้เคียง 8) ยังให้มีการตรวจสอบระดับน้ำของจุดเฝ้าระวังโดยรอบพื้นที่ และประสานงานกับกรมชลประทาน/กรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 9) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน ทหาร และท้องถิ่น เพื่อรองรับสถานการณ์ 10) ฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดเหตุอุทกภัยของนิคมฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เป็นประจำทุกปี 11) ตรวจสอบคันดินรอบนิคมอุตสาหกรรมให้อยู่ในสภาพที่ได้มาตรฐาน 12) จัดเตรียมอุปกรณ์สำรองฉุกเฉิน เช่น เขื่อนกั้นน้ำติดตั้งเร็ว มีความสูงประมาณ 1.20 เมตร มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร