สนง.ประกันสังคม ผวาข่าวเก็บเงินเพิ่มเร่งแจงผ่านโซเชียล“ชัวร์ก่อนแชร์”

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

เพจสนง.ประกันสังคม เร่งทำความเข้าใจ “ชัวร์ก่อนแชร์” กรณีเก็บเงินประกันสังคมเพิ่ม ย้ำยังไม่ได้ทำเวลานี้ ด้านเลขาฯ สปส.แจง ยังอีกหลายขั้นตอน และต้องเข้าครม.
หลังเป็นที่ฮืฮฮาในโลกโซเชียลจากกรณีที่มีการแชร์เผยแพร่ข่าวไปตามสื่อออนไลน์ เรื่องของการหารายได้เข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น โดยระบุว่าทาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีแนวคิดการขยายฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ จากเดิมต่ำสุด 1,650 บาทต่อเดือน และสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน อาจปรับเพิ่มเป็นฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 3,000 บาทต่อเดือน และสูงสุดกว่า 20,000 บาทต่อเดือน และยังมีการเรียกเก็บค่าประกันสังคมในอัตราสูงสุด 1,000 บาทต่อเดือน จากเดิมที่หักจากฐานค่าจ้าง 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงความเข้าใจที่สับสนไปในหลายทิศทางเกี่ยวกับเรื่องนี้

Advertisement

ล่าสุด ทางเพจของสำนักงานประกันสังคม ได้ออกมาชี้แจงว่า  กรณีดังกล่าว เป็นเพียงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมากขึ้น ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไขล่าสุดเท่านั้น  ยืนยันยังไม่มีการเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือน แต่อย่างใด

ด้านน.พ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำรักงานประกันสังคม (สปส.) ออกมาเปิดเผยว่า “เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเท่านั้น และแนวคิดการจัดเก็บก็จะเป็นลักษณะของการขยายเพดานคือ การเก็บเงินสมทบจากเพดานรายได้ 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท โดยเก็บ 5% ของค่าจ้าง แต่สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท ยกตัวอย่าง คนที่ได้เงินเดือน 16,000 บาท คิด 800 บาท เงินเดือน 17,000 บาท เป็น 850 บาท คือเก็บสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท โดยมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา เรื่องนี้คณะกรรมการสปส.จะนำเสนอให้เป็นร่างกฏกระทรวง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน” เลขาฯ สปส.กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางเพจของสำนักงานประกันสังคม ได้เผยแพร่สื่อฯ ทางโลกออนไลน์ “ชัวร์ก่อนแชร์” เพื่อทำความเข้าใจกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน พร้อมยืนยันยันเรื่องของการขยายเพดานเก็บเงินสมทบยังไม่ได้มีการเรียกเก็บเพิ่มในเวลานี้

ภาพจากเพจสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน